logoedukey

วิศวกรผู้ถ่ายภาพดาวเทียมจากอวกาศมาอยู่ในมือเรา

30 พฤศจิกายน 2565ทอฝัน กันทะมูลแนะแนวอาชีพ 33

แชร์บทความนี้

วิศวกรผู้ถ่ายภาพดาวเทียมจากอวกาศมาอยู่ในมือเรา

    “อาชีพที่ทำงานแข่งกับเวลาและต้องแม่นยำเพราะไม่สามารถไปซ่อมบนอวกาศได้”

    ทาง Edukey ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ว่าที่ร้อยตรี วรธันย์ วิชาคุณ ตำแหน่งวิศวกรและนักเทคโนโลยีอวกาศ GISTDA ที่ทำงานเน้นไปทางด้านการวางแผนการถ่ายภาพให้ดาวเทียมไทยโชต อาชีพวิศวกรอีกแขนงที่น่าสนใจมากทีเดียว สามารถเริ่มได้ทั้งคนที่เรียนสายอาชีพและสายสามัญ

ก่อนจะมาเป็นวิศวกรเทคโนโลยีด้านอวกาศได้

    ปัจจุบันประเทศไทยมีการเปิดสอนทางด้านวิศวกรเทคโนโลยีคมนาคมอยู่ในหลายที่ ทั้งสายอาชีพและสามัญ หากมีความสนใจสามารถเข้าศึกษาได้ เพื่อได้ทำงานตรงสายที่เรียน หรือใครมีความสนใจแต่ไม่ได้เป็นตรงสายก็สามารถหาเรียนรู้เพิ่มเติมได้ ซึ่งความพิเศษของอาชีพนี้ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพดาวเทียมคือสามารถมองเห็นภาพโลกในแต่ละพื้นที่ได้ในทุก ๆ วัน


หัวใจของการเป็นวิศวกรและนักเทคโนโลยีอวกาศ

    คนที่จะเป็นวิศวกรและนักเทคโนโลยีอวกาศได้ต้องมีความสนใจในเทคโนโลยีดาวเทียม การนำภาพถ่ายดาวเทียมไปใช้ และเรื่องการทำงานของดาวเทียม สิ่งเหล่านี้เองจะช่วยให้มองเห็นภาพเวลาทำงานได้มากขึ้น และเมื่ออยู่ในการทำงานขั้นตอนไหน ควรรู้กระบวนการทำงานนั้นด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ด้านวิศวกร เทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์ ในการวางแผนถ่ายภาพดาวเทียม ต้องรู้โจทย์การถ่ายภาพก่อน แล้วเริ่มทำการรับสัญญาณแล้วผลิตข้อมูลส่งให้ลูกค้าในเวลาเท่าไหร่ เป็นสิ่งที่คนทำอาชีพนี้ต้องรู้

​“ทั้งหมดคือสิ่งที่เราต้องรู้ก่อน แล้วจึงเริ่มใช้ระบบปฏิบัติการวางแผนการถ่ายภาพ ให้เกิดภาพที่ต้องการมากที่สุดในเวลานั้น”


หน้าที่ที่นักเทคโนโลยีอวกาศต้องทำ

    ตำแหน่งหน้าที่วิศวกรและนักเทคโนโลยีอวกาศจะทำงานในสำนักงานปฏิบัติการดาวเทียมเป็นหลัก ไม่ต้องขึ้นไปในอวกาศ แต่มีความรู้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศ ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ มาบูรณาการที่เกี่ยวกับสถานีภาคพื้นดิน ทั้งเรื่อง

- การควบคุมดาวเทียม

- การติดต่อกับดาวเทียม

- การตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียม

และนำข้อมูลที่มีใช้ความรู้ทั้งด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์มาให้เกิดประโยชน์ นี่คืออาชีพ วิศวกรหรือนักเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งอาชีพนี้ต้องทำงานร่วมกับภาคอื่น ๆ เนื่องจากเป็นต้นน้ำของการได้ภาพถ่ายจากดาวเทียมมาแล้ว ต้องติดต่อทั้งด้านการบริการข้อมูล ประสานงานกับลูกค้า เป็นต้น


อาชีพที่เกี่ยวข้องในการทำงาน

    สายอาชีพด้านเทคโนโลยีอวกาศก็ไม่ได้มีแค่วิศวกร นักเทคโนโลยีอวกาศเท่านั้น ยังต้องมีอาชีพอื่นที่ให้ความเกี่ยวข้องและกระจายภาพดาวเทียมไปใช้งานให้เกิดประโยชน์

- นักภูมิสารสนเทศ 

- นักวิชาการด้านต่าง ๆ 

- ผู้ให้บริการข้อมูล 

- ผู้ประสานงานกับลูกค้า


ความท้าทายของอาชีพด้านเทคโนโลยีอวกาศ

เป็นการทำงานแข่งกับเวลา และความไม่แน่นอนของภัยพิบัติ บางครั้งวางแผนงานล่วงหน้าไว้แล้ว แต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหวก็กลับมาแก้ เริ่มงานใหม่ เป็นสิ่งที่ต้องแก้ปัญหาให้ทัน ทำตัวให้พร้อมอยู่เสมอและไม่สามารถขึ้นไปซ่อมเทคโนโลยีที่อยู่ในอวกาศได้ การกระทำแต่ละอย่างต้องมั่นใจว่าทำไปแล้วจะแก้ปัญหาได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อดาวเทียมหรือวัตถุอื่น ๆ ในอวกาศ คนที่จะสามารถทำงานด้านนี้ได้ต้องละเอียดและใส่ใจต่อสถานการณ์ของโลก และที่สำคัญก็คือเรื่องของการทำงานเป็นทีม


การเติบโตในสายงานเทคโนโลยีอวกาศ

ในการทำงานที่ GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มีการแบ่งส่วนงานเป็น 2 ส่วน ส่วนบริหาร และตำแหน่งเฉพาะทาง ซึ่งในส่วนของตำแหน่งเฉพาะทางมีทั้ง วิศวกรและนักเทคโนโลยีอวกาศ กลุ่มนี้จะต้องทำผลงาน ปรับปรุงกระบวนงาน ทำยังไงให้งานสะดวก ดีมากยิ่งขึ้น ในส่วนของบริหารจะเป็นหัวหน้างาน หัวหน้าฝ่ายและผู้อำนวยการ สามารถเติบโตได้ในสายอาชีพนี้


ฝากถึงน้อง ๆ

​“สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจในการทำอาชีพต่าง ๆ ต้องลองดูว่าเราชอบด้านไหน ถนัดทางด้านไหน จะเลือกเรียนด้านไหน สายอาชีพ ไม่จำเป็นต้องเป็นสายสามัญ เมื่อเลือกได้ว่าจะทำอะไร แล้วมุ่งไปทางด้านนั้นเลย”