logoedukey

รู้จัก ผู้ช่วยผู้กำกับ อาชีพที่ไม่ได้ช่วยแค่ผู้กำกับ

11 มกราคม 2566ทอฝัน กันทะมูลแนะแนวอาชีพ 386

แชร์บทความนี้

รู้จัก ผู้ช่วยผู้กำกับ อาชีพที่ไม่ได้ช่วยแค่ผู้กำกับ

    การทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง มีทีมงานที่ต้องช่วยกันรังสรรขึ้นมาหลายทีม หนึ่งในหน้าที่ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ผู้ช่วยผู้กำกับ วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ช่วยผู้กำกับ คุณมะปราง ชิดชนก ชุ่มวรรณ์ ที่ทำงานในแวดวงภาพยนตร์ ซีรี่ส์ และ โฆษณา ผลงานที่ผ่านมาอย่างเช่น เด็กใหม่, The Shipper จิ้นนายกลายเป็นฉัน, อังคารคลุมโปง The Series, หอนี้ชะนีแจ่ม ตอนยามหล่อบอกต่อว่ารัก และ อาทิตย์อัสดง ตอนสวดศพแห่งผู้เยาว์วัย เป็นต้น

เป็นตัวเอง เป็นอาชีพ 

    มะปรางเป็นเด็กกิจกรรม และ รู้ตัวเองว่าเป็นคนที่ Active มาตลอด ไม่ได้คิดว่าจะมาเรียนด้านนิเทศ แต่คิดว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับสายนี้เพราะนิสัยส่วนตัว พอได้เรียนก็ชอบจริง ๆ เรียนจบจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะการสื่อสารมวลชน สาขาโฆษณา ได้มีโอกาสยื่นฝึกงานที่ Production House และ ถูกทาบทามให้ฝึกงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ เพราะรุ่นพี่ทำงาน “ เห็นความ Active ความกระตือรือร้น น่าจะเหมาะกับหน้าที่นี่ ” ซึ่งก็ทำงานนี้ได้สำเร็จลุล่วงจนจบฝึกงาน เรียนจบก็ได้สมัครทำงานตำแหน่ง Creative รายการโทรทัศน์ แต่รู้สึกว่าทำแล้วไม่ใช่ตัวเอง จึงออกมา และ ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่บริษัท Jungka Bangkok จนถึงตอนนี้


นิยามของอาชีพผู้ช่วยผู้กำกับ 

    เป็นอาชีพที่งานจับฉ่ายมาก คอยเช็กความเรียบร้อย ความเป็นไปของแต่ละฝ่าย หลัก ๆ ต้องให้ผู้กำกับได้ภาพ ฟุตเทจที่ต้องการ เพื่อนำไปออกอากาศ และ เป็นเหมือน คนถือพู่คอยเชียร์ให้ทุกคนในแต่ละแผนกทำงานได้ลุล่วง


การทำงานของผู้ช่วยผู้กำกับ “ ช่วง Pre - Production ” 

    ช่วง Pre-Production คือ เตรียมการก่อนออกกอง หรือ Production มาดูกันเลยว่าผู้ช่วยผู้กำกับต้องทำอะไรบ้าง 

รับบรีฟจาก Producer: รับข้อมูลสิ่งที่ Producer ต้องการ ทั้งแนวของเรื่องที่จะทำ อ่านบทแล้วเอามาจัดตารางการถ่ายทำ ในบทต้องใช้ทีมงานฝ่ายไหนบ้าง พร้อมจดเอาไว้

อ่านบท: อ่านในมุมมองของคนดู ว่าฉากไหนน่าสนใจ ฉากไหนจำเจ และ เขียนคำถามหลังจากอ่านในฐานะคนดูออกมา จากนั้น อ่านในมุมมองของผู้ช่วยผู้กำกับ ฉากแบบนี้ต้องใช้อุปกรณ์อะไร พร้อมเขียนคำถามการจัดการงานถ่าย แล้วโทรคุยกับผู้กำกับว่าเขามองอย่างไร อยากเล่าเรื่องมาแบบไหน เป็นวิธีการทำงานของมะปรางที่ทำงานเหมือนเป็น Partner ผู้กำกับ ซึ่งผู้ช่วยผู้กำกับแต่ละคนก็จะมีวิธีการทำงานแตกต่างกันออกไป

Read thought: วันที่ทุกคน ทุกแผนกจะมาอ่านบทด้วยกัน ทำให้เห็นชุดความคิดที่แตกต่างของแต่ละคน ขณะที่ทุกแผนกมองเห็นภาพงานตัวเอง ก็จะเกิดคำถาม ผู้ช่วยผู้กำกับก็จะรวบรวมคำถาม และ รายละเอียด ของทุกคนรวมถึงตัวเองมาทำเป็น Scene List

Scene List: การแตกรายละเอียดบท บอกว่า ตอนที่เท่าไหร่ ฉากอะไร ใช้อะไรบ้าง และย่อบทในส่วนนั้นออกมาเป็น 2-3 บรรทัดที่ทุกคนในกองอ่านแล้วเข้าใจได้ รู้ว่าตัวเองต้องทำงานอะไร เป็นเหมือนไบเบิล ถ้าทำออกมาดีจะทำให้งานในกองออกมา Flow ราบรื่นจนถึงปลายทางเลย

Breakdown: ทำต่อจาก Scene List โดยเริ่มจาก Group Location แบ่งหมวดหมู่สถานที่ถ่ายทำ แยกตามสถานที่ถ่ายทำ ว่าใช้ฉากไหนบ้าง กี่ฉาก นักแสดงมีใครบ้าง จากนั้นลงเวลาที่ใช้ถ่ายทำ ว่าถ่ายช่วงเวลาไหน ใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่งทั้ง Scene List และ Breakdown จะเป็นไบเบิลของกอง ให้เห็นภาพรวมของงานมากขึ้น ประชุมขายงาน : เอางานของทุกคนมาขาย แล้วทำ Work shop, ทำเสื้อผ้า, เช็คคิว, ฟีตติ้ง, Scout Location, Block Shot, ทีมอาร์ต, เทสต์ Mechanic หลาย ๆ กิจกรรมที่ต้องทำ จากนั้นคือออกกอง หรือ ขั้น Production


การทำงานของผู้ช่วยผู้กำกับ “ ช่วง Production ” 

    พอถึงตอนออกกอง ผู้ช่วยผู้กำกับก็จะมีหน้าที่ดู Set ว่าการจัดวาง ทีมอาร์ต ทีมกล้อง ทีมไฟ ได้ทำตามที่คุยตอน Block shot หรือไม่ คือต้องเช็กความเรียบร้อยก่อน หลังจากนั้นทีมประสานงานแจกวิทยุสื่อสารปุ๊ป คือการนับหนึ่งในการทำงานกองนี้ทันที หน้าที่ต่อมาเหมือนการเร่ง แต่ไม่ได้พูดเร่งการทำงาน ในหัวผู้ช่วยผู้กำกับจะรู้ว่าใครต้องทำอะไร และ จัดการเวลาที่มีให้ทุกคนทำงานได้แบบมีประสิทธิภาพที่สุด ดูแลกองจนกว่าจะบอก เลิกกอง

ผู้ช่วยผู้กำกับ เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว 

    หน้าที่ของผู้ช่วยผู้กำกับ เรียกได้เลยว่าเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว ทำให้การออกกองดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุด แล้วมะปรางยังพูดอีกว่า 

“ งานนี้เหนื่อย อยากสบาย อย่ามาทำ ” 

    ในการทำงาน 16 ชั่วโมงต่อวัน ต้องจัดการเวลาให้ดี และฝากถึงน้อง ๆ ที่สนใจอาชีพผู้ช่วยผู้กำกับ ต้องถามตัวเองว่า ‘ อยากเจอภาพเหตุการณ์การทำงานแบบนี้หรือเปล่า ? ’ ถ้าคำตอบคือ โอเค รับได้ แสดงว่ามาถูกทางแล้ว สิ่งที่สนุก และ ทำให้มีความสุขมาก คือตอนที่สั่งทุกคนว่า “ เลิกกอง ” เป็นสิ่งที่คนเป็นผู้ช่วยผู้กำกับจะเห็นการจัดการ ควบคุมกองของตัวเอง เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้เจอทีมงานที่ดี และ ตั้งใจทำงานไปด้วยกัน