อาชีพ Paramedic ทีมแพทย์ฉุกเฉิน ที่น้อยคนจะรู้จัก
Edukey ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณโบ สุภัสสร อัศวโนดม นักฉุกเฉินการแพทย์ หรือ Paramedic ประจำที่ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
“ ทุกวันนี้ที่เราออกไป ยังมีคนเรียกว่าเป็นพยาบาลรึเปล่า หมอรึเปล่าอะไรแบบนี้ คือเขาจะไม่ค่อยรู้ว่ามีอาชีพที่เรียกว่า Paramedic หรือ นักฉุกเฉินการแพทย์อยู่ ”
มารู้จักอาชีพ Paramedic กัน
นักฉุกเฉินการแพทย์ หรือ Paramedic หนึ่งในทีมกู้ชีพขั้นสูง เป็นคนที่ทำงานนอกโรงพยาบาล เน้นการรักษาคนไข้นอกโรงพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ หรือ บางส่วนอยู่ในส่วนรับแจ้งเหตุ และ สั่งการ
หนึ่งอาชีพที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยปัจจุบันมีการพยายามช่วยพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีระดับมากยิ่งขึ้น บางภาวะฉุกเฉินต้องมีการตรวจร่างกายคนไข้นอกโรงพยาบาลก่อน เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิต และ ลดอัตราการเสียชีวิต ของคนไข้นอกโรงพยาบาล เป็นหน้าที่คล้ายกับหมอที่จะพาคนไข้นอกโรงพยาบาลเข้ามาส่งห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล และ ได้รับการรักษาต่อไป
ความต่างของ Paramedic และ อาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ หรือ ทีมกู้ภัย คือ Paramedic เรียนมาเฉพาะทาง เน้นการช่วยเหลือทางแพทย์ขั้นสูงเป็นหลัก ส่วนอาสาฉุกเฉินการแพทย์ และ กู้ภัยเป็นการช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน ทำหน้าที่เป็นส่วนช่วย Paramedic และ ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้
จะมาเป็น Paramedic ได้
อาชีพ Paramedic นี้ต้องเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ไม่สามารถเรียนอย่างอื่นแล้วมาเรียนต่อเพื่อได้เกียรติบัตรได้ เป็นหลักสูตรการเรียน 2 - 4 ปี
โดยหลักสูตร 2 ปี คือ หลักสูตรต่อยอด สำหรับผู้ปฏิบัติการที่มีวุฒิเป็นเจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์มาก่อน สามารถเรียนต่อยอดมาเป็น Paramedic
ต่อมาคือหลักสูตร 4 ปี สำหรับเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 6 จบมา ได้เป็นวุฒิปริญญาตรี ปัจจุบัน Paramedic จะประจำอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัด หรือ โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ที่เขาจะมีรถพยาบาล หรือ ที่ตั้งรับเหตุฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล ในอนาคตจะมีการพัฒนาให้มี Paramedic ประจำการอยู่ตามองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ ส่วนตำบล
การทำงานมี 2 รูปแบบ
- ปฎิบัติการอำนวยการ รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน เบอร์ 1669
แล้วจะประเมินว่าควรส่งทีมปฏิบัติการขั้นพื้นฐานหรือขั้นสูงออกไป
- ปฏิบัติการฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล จะเตรียมตัวเพื่อทำงานอยู่กับรถพยาบาล
หรือ โรงพยาบาลที่มีรถฉุกเฉิน และ ทำงานตอบสนองเมื่อมีการสั่งงานเข้ามา
นอกจาก Paramedic ที่ประจำจุดรับแจ้งเหตุฉุกเฉินแล้ว ก็ยังมีสายที่ไปเรียนต่อยอดด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งจะทำหน้าที่อยู่ในสนามแข่งขันกีฬา เตรียมพร้อมสำหรับอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการแข่งขัน รวมไปถึงสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก เช่น คอนเสิร์ต งานอัฒจันทร์ เป็นต้น
ความท้าทายของอาชีพ และ ทักษะที่ควรมี
เพราะเป็นการรักษานอกโรงพยาบาล เมื่อออกไปจุดเกิดเหตุจะไม่รู้เลยว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง สื่งที่ต้องทำให้ได้คือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้และทีม
โดยทักษะที่ควรมีของคนจะเป็น Paramedic คือ รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รู้จักการประยุกต์อุปกรณ์ที่มีอยู่จำกัดให้ทำการช่วยเหลือคนไข้ได้ มีใจรักการช่วยเหลือ มีสติ ควบคุมอารมณ์ได้ดี และ ได้เรียนตามหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาฉุกเฉินการแพทย์
หัวใจสำคัญของอาชีพนี้ และรายได้
หัวใจของอาชีพ Paramedic คือ การได้ช่วยเหลือ รักษาคนไข้ ณ จุดเกิดเหตุ หรือ นอกโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิต และ ลดอัตราการเสียชีวิต และ พิการของคนไข้
รายได้ของ Paramedic แตกต่างไปตามโรงพยาบาล มีตั้งแต่ 15,000 - 25,000 บาทต่อเดือน และ นอกจากที่ทำงานประจำที่โรงพยาบาล มีกิจกรรมที่ไหน ต้องได้ไปเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ก็ต่อยอดสายอาชีพนี้ไปเป็นนักวิชาการ นักวิจัย หรือ ผู้ช่วยอาจารย์
แนะนำสำหรับน้อง ๆ
สำหรับคนที่สนใจงานแบบนักฉุกเฉินการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่เพจเฟสบุ๊ก Ramamedic โดยจะมีการอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับอาชีพ Paramedic ทั้งหลักสูตรของภาควิชา หรือ หลักสูตรแกนกลางของประเทศ บรรยากาศการเรียนการสอน การทำกิจกรรมของหลักสูตรก็รวมไว้ในเพจนี้แล้ว
“ ชีวิตคนเรา บางทีมันไม่มีอะไรบอกเลยว่าจะแบบไปตอนไหนหรือว่าเสียชีวิตตอนไหนอะไรแบบนี้อ่ะค่ะ แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นก็คือ เวลาออกเคส เราก็เห็นว่าครอบครัว คนรอบข้างเขาเศร้า หรือ มันเกิดเหตุการณ์กระทันหันอะไรไป อะไรแบบนี้ก็คือ ทำทุกวันให้ดีที่สุด ”