logoedukey

นักประดิษฐ์ ผู้คิดค้น ของทิ้ง = ของใช้

27 มีนาคม 2566ทอฝัน กันทะมูลแนะแนวอาชีพ 22

แชร์บทความนี้

นักประดิษฐ์ ผู้คิดค้น ของทิ้ง = ของใช้

    ในปัจจุบันโลกของเราประสบปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นทุกๆปี และทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา ยกตัวอย่างเช่น มลพิษต่อสิ่งแวดล้อม การเสี่ยงต่อสุขภาพ และมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นเท่านั้น ที่นำขยะกลับมารีไซเคิล วันนี้ Edukey จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งอาชีพ ที่นำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นั่นก็คืออาชีพ นักประดิษฐ์ กับคุณ ยุทธการ มากพันธุ์ หรือพี่เอก นักประดิษฐ์ที่เปลี่ยนขยะให้เป็นน้ำมันกันครับ

จุดเริ่มต้นของนักประดิษฐ์ 

    สมัยพี่เอกยังเด็ก พี่เอกทำงานในเหมืองแร่และด้วยในช่วงนั้นไม่มีไฟฟ้า ไม่มีพลังงาน พี่เอกจึงประดิษฐ์เครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องปั่นไฟมาใช้เองเป็นชิ้นงานแรก หลังจากนั้นจึงไปทำงานโรงแรม แต่ด้วยความที่ยังชื่นชอบการประดิษฐ์ จึงได้มีโอกาสศึกษาในเรื่อง Zero waste คือการทำขยะให้เป็นศูนย์ เช่น Biogas คือก๊าซที่ผลิตได้จากกระบวนการย่อยเศษอาหาร หรือการทำปุ๋ยจากใบไม้ จากนั้นจึงเริ่มคิดเครื่องประดิษฐ์ที่ทำให้ขยะพลาสติกเปลี่ยนเป็นน้ำมัน จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่ว่า

​“ไม่มีอะไรที่ถูกทิ้ง มีแต่จะใช้ประโยชน์อะไรจากมัน”

    จาก “ของเหลือ” สู่สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก เริ่มจากการลอง “ทำไฮโดรเจน” โดยการเอากรรไกรตัดเล็บ กับตะไบมาใส่บวกลบ จากนั้นจึงเกิดเป็นฟอง ตอนนั้นรู้สึกมหัศจรรย์ใจมาก จึงไปหาหนังสือมาศึกษาเรื่อง Biogas กระบวนการย่อยสลายให้เป็นปุ๋ย แล้วคิดว่า “ทุกอย่างมันใช้ได้จริงๆ” จึงเอาความชื่นชอบเหล่านี้มาทำเป็นอาชีพ และเมื่อมั่นคงในอาชีพแล้ว ก็เอาความคิด ความรู้เรื่องเหล่านี้ มาทำงานเพื่อสังคม


ประดิษฐ์ความฝันให้เป็นอาชีพ 

    ย้อนกลับไปประมาณ 30 ปีที่แล้ว พี่เอกได้ไปเห็นข่าวอาจารย์บุญมา ป้านประดิษฐ์ เรื่องการทำ Biogas ตอนนั้นพี่เอกตื่นเต้นกับกระบวนการเหล่านี้ เพราะตอนสมัยเด็ก พี่เอกเคยสงสัยว่า เศษอาหาร เราสามารถนำเศษอาหารมาทำให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ จนได้มีโอกาสเจอกับอาจารย์บุญมา ก็เหมือนเจอ เพื่อนรู้ใจ ที่มองถึงปัญหาในเรื่องเดียวกัน จึงไปลองศึกษา เรียนรู้การทำแล้วพัฒนามาให้เป็นสิ่งประดิษฐ์ ในทิศทางของตนเอง 

    และในขณะที่พี่เอกกำลังศึกษาเรื่อง Biogas ก็มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมาจ้างพี่เอก ให้ช่วยทำเรื่อง Biogas ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอีกก้าว จนพัฒนาต่อมาเป็นเรื่องของพลาสติก ที่บางชนิดขายได้ บางชนิดขายไม่ได้ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำพลาสติกให้เป็นน้ำมัน


รายได้ของการคิดชิ้นงาน 

    เครื่องทำน้ำมันจากพลาสติก หรือ โรงอบพลาสติกโดยความร้อน ราคาชิ้นงานประดิษฐ์ พี่เอกคิดค่าของครึ่งนึงค่าแรงครึ่งนึง ในบางชิ้นงานประดิษฐ์ ที่พี่เอกไม่เคยทำก็ต้องคุยกับผู้จ้าง ในกรณีที่พี่เอกไม่เคยทำ ชิ้นงานอาจจะมีความเสี่ยง ต้องมีระยะเวลาในการแก้ไข ซึ่งรายได้ ในหนึ่งเดือนอาจจะได้หลายแสน ปีละหลายล้าน เพราะว่ามันมีความยากง่ายของชิ้นงานและระยะเวลา เพราะต้องมีการปรับปรุง แก้ไขครับ

ความผิดพลาดสู่แรงผลักดันในงานประดิษฐ์

     อุปสรรคส่วนหนึ่งคือ คำดูถูก ที่ทำให้เกิดทางเลือกว่าจะ หยุด หรือ ไปต่อ บทพิสูจน์ที่ต้องไปผู้คนยอมรับ พี่เอกเลือกที่จะไปต่อ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นยอมรับกับสิ่งประดิษฐ์ ดังนั้นเราต้องอดทนและภูมิใจกับชิ้นงานของเรา ประสบการณ์จะหล่อหลอมงานประดิษฐ์ชิ้นใหม่ๆขึ้นมา ทุกชิ้นงานต้องให้เวลากับมัน ถ้ามันพลาดหรือไม่มีใครใช้ ให้มาหาว่ามันเกิดความผิดพลาดตรงไหน และทำความเข้าใจกับความผิดพลาด วิธีคิดคือเมื่อเกิดความล้มเหลวอย่าโทษผู้อื่น ให้กลับมามองชิ้นงานตนเองและแก้ไข


จากแนวคิดสู่หัวใจสำคัญของนักประดิษฐ์ 

    ปัญหาหลักของเราคือของเหลือใช้ ถ้าเรามีกลวิธีที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้อื่นทำตามในการแยกขยะ มันจะเกิดประโยชน์กับทุกคน พี่เอกจึงลองคิดว่า 

​“ถ้ารุ่นผมสร้างขยะเยอะมาก ถ้าเรายังกองขยะไว้แบบนี้ ทำลายทุกอย่างไว้อย่างนี้ เด็กต้องบ่นเราแน่ๆ เราต้องทำอะไรซักอย่างไว้ เพื่อคนรุ่นหลังที่มาจะได้ใช้ต่อ จะได้ไม่รู้สึกว่าคนรุ่นนี้มาเอาเปรียบ เลยยึดมั่นว่าจะต้องทำให้สำเร็จให้ได้ครับ”


ฝากถึงน้องๆที่สนใจเรื่องงานประดิษฐ์ 

    วิชาประดิษฐ์ ไม่ใช่วิชาหนึ่ง มันต้องเรียนรู้ ศึกษาหลายๆเรื่องและลองปฏิบัติ อาชีพนี้เป็นอาชีพที่โน้มน้าวให้คนมาซื้อในสิ่งที่ไม่มี มันคือจินตนการทั้งหมด คุณต้องพูดให้เขาเห็นภาพ ถ้าสิ่งที่จะทำคือจินตนาการ แล้วถูกเขียนขึ้นมาคือ On process แต่ถ้าไม่ถูกเขียนคือการเพ้อเจ้อ 

    แน่นอนว่าสิ่งที่เราประดิษฐ์มันสามารถสร้างรายได้ได้ เช่น เราทำแก๊สใช้เองก็ประหยัดเงิน แต่จะทำเป็นอาชีพได้มั้ย “เริ่มจากตรงนี้ก่อน เริ่มใช้เอง ทดลองเอง อย่าพึ่งใจร้อนไปทำให้คนอื่นใช้”

​“จุดสำคัญคือการจะเป็นนักประดิษฐ์ คุณลองทำอะไรให้ตัวเองสักชิ้น เมื่อสำเร็จ สามารถใช้งาน ให้เกิดประไยชน์ได้ หลังจากนั้น คนที่ชื่นชอบเรื่องคล้ายๆคุณ จะสนใจชิ้นงานของคุณเองครับ”