logoedukey

Designer Toy จากปัจเจกสู่ของวิเศษหายาก

26 ธันวาคม 2565Edukey Thailandแนะแนวอาชีพ 219

แชร์บทความนี้

Designer Toy จากปัจเจกสู่ของวิเศษหายาก

“จากความสุขในวัยเด็ก สู่ของสะสมในวัยโต” การไล่ล่าตามหาของสะสม ของเล่นที่ชื่นชอบ เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง การที่เราชื่นชอบหรือสนใจอะไรก็มักจะศึกษาที่มาก่อนใช่มั้ยคะ วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับคุณ วรกันต์ จงธนพิพัฒน์ หรือ พี่แอนดี้ เจ้าของแบรนด์ Mr.Kreme ของสะสมที่ใครหลาย ๆ คนตามหา

Designer Toy VS Art Toy

    “Designer Toy มีความคล้ายกับ Art Toy” ทั้ง 2 อย่างส่วนมากจะเป็นของสะสม ที่ถูกผลิตน้อยหรืออาจจะ ผลิตด้วยมือทุกตัว อาจจะมีตั้งแต่ 1 ตัวไปจนถึงหมื่นตัว 

    Designer Toy คือคนที่ทำ Character Design ของตัวเองเป็น 3 มิติ ซึ่งอาจจะเป็นของเล่น หรือของสะสมที่ศิลปินเป็นผู้ออกแบบและถูกผลิตในจำนวนจำกัด เพื่อจำหน่ายหรือส่งมอบให้กับผู้อื่น 

    Art Toy มีหลายหมวดหมู่ หมวดหมู่แรก คือศิลปินที่มีงานเป็น Character ของตัวเอง หมวดหมู่ที่สอง คืองานที่มีความน่ารัก หมวดหมู่ที่สามเป็นงานประเภท ไคจู (สัตว์ประหลาด หรือสัตว์ประหลาดยักษ์) ได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่น งานที่ถูกที่ออกแบบก็จะได้รับแรงบันดาลใจ มาจากพวกสัตว์ประหลาด และซุปเปอร์ฮีโร่จากญี่ปุ่น ส่วนวัสดุต้องใช้ของญี่ปุ่นเท่านั้น

จุดเริ่มต้น Mr.Kreme

    ในวัย 13 ปี พี่แอนดี้ชอบงาน Street Art กับ Graffiti เริ่มสร้างผลงานที่ตลกหรือตลกร้าย และจุดเริ่มต้นของชื่อ “Kreme” ด้วยความที่ครีมคล้าย ๆ น้ำ ไปอยู่ในแก้วมันก็เป็นรูปแก้ว ไปอยู่จุดไหนก็ได้ ซึ่งก็คือ Concept ของ Graffiti กับ Street Art อยู่แล้ว คือการเอางานของเรา ไปอยู่ตรงไหนก็ได้

    ตอนเรียน รู้เลยว่าชอบวาดรูป เพราะนั่งวาดรูปเวลาอาจารย์สอน และจะมีความสุขมากเวลา ได้เข้าเรียนเรียนศิลปะ เมื่อจบมัธยมก็เรียนต่อปริญญาตรีที่ บางมด Industrial Design (การออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านเทคนิคการผลิตจำนวนมาก) เป็นออกแบบผลิตภัณฑ์ และไปต่อปริญญาโทที่อเมริกา Masters in Industrial Design : PRATT INSTITUTE เป็น ID (Industrial Design) เหมือนกัน

    ตอนนั้นรู้ตัวเองว่าชอบวาดรูป แต่ยังไม่เห็นช่องทางในเชิงของศิลปะ จึงเอาสิ่งที่เรียน มาลองทำให้เป็นชิ้นงาน เริ่มจากการหล่อโมลด์เป็นเรซิ่น ที่สามารถทำออกมาเป็นตัว เมื่อเสร็จแล้ว ก็ลองเอาไป Post ในกลุ่มหนึ่งใน Facebook ที่ชื่อ Art Toys Thailand เมื่อมีคนสนใจในงานจึงรู้ว่ามีกลุ่มตลาดงานเหล่านี้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้เข้าสู่วงการ Designer Toy

เสน่ห์ของ Mr.Kreme

    ตัวชิ้นงานจะพยายามไม่สื่ออะไรตรงๆ รอยยิ้มไม่จำเป็นต้องเป็นยิ้มใสซื่อ แต่มันอาจจะเป็นยิ้มที่น่ากลัวหรืออาจเป็นยิ้มที่แสยะ เราย้อนกลับไปดูว่า เมื่อก่อนเราชอบอะไร ก็ขุดออกมาใช้ ในวัยเด็ก น้าชอบส่งการ์ตูนยุค 80 มาให้ ผมเลยชอบอะไรที่เกี่ยวกับยุค 80 ที่สีฉูดฉาด หยิบตรงนั้นมาผสมกับความน่ารัก

   ซึ่งการที่จะรู้ตลาดก็คือการไปดูคนอื่น ตัวไหนดัง ๆ มันมักจะมีเหตุผลของมัน คนสะสมจะพูดด้วยว่าชอบ Charecter นี้เพราะอะไร พอถึงจุดหนึ่ง ถ้าสินค้าติดตลาดไปแล้ว เราผลิตอะไรออกมาก็จะมีฐานลูกค้าคอยสนับสนุน

ความภูมิใจ Mr.Kreme ตัวแรก

    Mr.Kreme ตัวแรก ชื่อ Rosado ก็คือเรซิ่นกับขนที่เป็นผ้าจริง ๆ มาติดด้วยกัน ผมภูมิใจกับมัน เพราะว่าตอนนั้นยังไม่มีคนเอาวัสดุมาผสมกัน ตอนที่ผมออกงานครั้งแรก ค่ายก็ติดต่อแล้วผม เขาบอกว่าไม่เคยเห็นคนเอาวัสดุ 2 อย่างนี้มาผสมกันรวมถึงสีและการดีไซน์

กระบวนการทำงานของ Mr.Kreme

    เริ่มต้นที่การร่างแบบ โดยการวาดด้วยมือเพราะเป็นการสื่อสารที่ง่ายที่สุดกับตัวเองและคนอื่น > หา Mood Board (การหาข้อมูล มาใส่ในบอร์ด เพื่อให้ทีมงานเห็นภาพตรงกัน) อาจจะหาบนช่องทาง Internet ต่าง ๆ Pinterest หรืออาจจะไปหาหนังสือที่มี Mood เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการ > ทำ Visual ออกมาโดยรวมและเอา มาปรับให้เหมาะกับ Charecter ที่ยังคงความเอกลักษณ์ของผู้ทำด้วย > หลังจากปั้นเสร็จแล้ว ก็เอาไปหล่อโมลด์ซิลิโคน > ส่งให้ Painter ไปทำต่อ > เมื่อชิ้นงานเสร็จแล้ว ก็ใส่บรรจุภัณฑ์ส่งให้ลูกค้า

​“ถ้าเราวาดชัดเจนมากเท่าไหร่ เราก็จะปั้นได้ดีขึ้น”

​​Designer Toy ในอดีต & ปัจจุบัน

    ในอนาคต คนทำยังมีไม่มาก ทำให้เป็นที่ต้องการของกลุ่มนักสะสม จนตอนนี้คนเยอะขึ้น สังคมใหญ่ขึ้น มาตรฐานก็ถูกพัฒนาขึ้น คนที่มาเริ่มใหม่ก็อาจจะยาก เพราะว่าคนเก่า ๆ มีฐานลูกค้าแล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ เพราะศิลปินบางคนที่มาใหม่ๆ เขาก็มาแรงเหมือนกัน

กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบงาน Designer Toy

    ตั้งแต่อายุ 18 ขึ้นไป จนถึงวัยกลางคน มันเป็นคุณค่าทางจิตใจสำหรับคนที่สะสม เสน่ห์ของการสะสมคือถ้าสินค้าถูกผลิตออกมาน้อย แต่ความต้องการของผู้ซื้อต้องการมาก จะเกิดการแข่งขันกันหาซื้อ เมื่อเราหาซื้อได้ เราก็จะเกิดความภูมิใจเวลาที่ได้มา

หัวใจสำคัญและทักษะของ Designer Toy

    มีความรักในศิลปะ หรือชอบของเล่น ไม่อยากให้คิดว่ามีช่องทางหาเงินแล้วมาทำตรงนี้ เพราไม่ใช่ทุกคนทำแล้วมันจะดี แต่ให้มองว่าสมมติคนนี้เป็นคนที่ชอบศิลปะ มีใจรักจริง ๆ ถ้าทำระยะยาวมันก็เวิร์คได้ ส่วนเรื่องทักษะที่ต้องมี คือทักษะร่างภาพ เพราะมันสามารถที่จะสื่อสารกับคนอื่นหรือสื่อสารกับตัวเอง เพื่อที่จะพัฒนาความคิด ต่อมาคือเราต้องมองงานตัวเองออกว่าถ้าถูกทำให้เป็นงาน 3D หน้าตาจะเป็นยังไง สุดท้ายคือทักษะทาสี ทาสีโมเดล จะทำให้เข้าใจกระบวนการการผลิตด้วย

รายได้ของ Designer Toy

    อาจจะขายได้เริ่มต้น ตัวหนึ่งหลักพัน อาจจะเป็นราคาทั่วไปที่ขายกัน ตัวที่พิเศษขึ้นมา ถ้าทำออกมาจำนวนน้อย อาจจะเป็นหลักหมื่น หลักแสน ถ้าศิลปินเขาดังอยู่แล้ว

ฝากถึงน้องๆที่สนใจ Designer Toy

    เริ่มจากความชอบ ถ้าน้อง ๆ รู้ว่าตัวเองชอบศิลปะอยู่แล้ว ผมว่าลองทำเลย ค่อยพัฒนาไปเรื่อย ๆ ถ้าสมมติว่าเราทำออกไปแล้วมันขายไม่ได้ก็ต้องสู้ หรือถ้าช่วงไหนที่เราเครียด เราก็อาจจะหยุดทำแป๊บหนึ่งแล้วค่อยกลับมาทำก็ได้

“เพิ่มโอกาสให้ตัวเอง จากการที่เราไปลองทำมัน”