logoedukey

คนสร้างเรื่อง อาชีพสร้างคอนเทนต์

14 มิถุนายน 2566นิโลบล อักษรโศภณพันธุ์แนะแนวอาชีพ 16

แชร์บทความนี้

คนสร้างเรื่อง อาชีพสร้างคอนเทนต์

    สร้างตำนานทำคลิปล้อเลียน สร้างเสียงหัวเราะ ยอดคนติดตามกว่า 8 ล้านคน หนีไม่พ้นช่องนี้แน่นอน บี้ เดอะสกา วันนี้ได้พูดคุยกับ คุณกฤษณ์ บุญญะรัง หรือ บี้ เดอะสกา หนึ่งใน Youtuber ไทยที่ประสบความสำเร็จ ในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท The Ska Film จำกัด และคนทำอาชีพ Content Creator เส้นทางคนสร้างเรื่องและการทำงานจะเป็นอย่างไร น่าสนใจแค่ไหน มาอ่านที่นี่ได้เลย


เส้นทาง กว่าจะเป็นบี้ เดอะสกา 

    อย่างที่หลายคนทราบกันว่า คุณบี้ เดอะสกา มักจะทำคลิปล้อเลียนเพื่อสร้างเสียงหัวเราะมาแต่ไหนแต่ไร ล้อเลียนศิลปินที่ชื่อเล่นเหมือนกัน อย่างบี้ เดอะสตาร์ ในชื่อ บี้ เดอะสกา จนโด่งดังในโลกโซเชียล พร้อมทั้งการพูดคุยกับ Edukey ก็ทำให้รู้ว่าคุณบี้ เป็นคนที่ตั้งใจให้คนอื่นได้มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

​“รู้มั้ย เวลาเพื่อน ๆ ยิ้ม ผมอะ โคตรมีความสุขเลย”

    เป็นประโยคที่คุณบี้พูดไว้ ว่าเป็นเหมือนคติประจำใจในการทำงาน แม้ความฝันแรกในชีวิตจะไม่ได้เป็นอาชีพด้านสื่อโดยตรง คืออยากเป็น บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ชื่อดัง คุณบี้ก็ได้ก่อตั้งบริษัทสื่อของตัวเองอยู่ดี นับว่าได้ใช้ความชอบและแรงบันดาลใจของตัวเองสร้างเป็นอาชีพ เลี้ยงตัวเองได้

Content Creator คืออะไร 

    อาชีพด้านสื่ออีกอาชีพที่กำลังมาแรง เพราะเทคโนโลยีที่ทันโลกและนิสัยของผู้คนที่เปลี่ยนไป มักจะติดโทรศัพท์ ติดการถ่ายคลิปและการสร้างคอนเทนต์ Content Creator เลยเป็นเหมือนอาชีพยอดฮิตในปัจจุบันของคนรุ่นใหม่ ถ้าให้คุณบี้นิยามความหมายของอาชีพนี้ คืออาชีพที่เป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ เพื่อให้ความรู้หรือความบันเทิง กับคนดูและฟัง ต้องทำให้สังคมดีขึ้น นับว่าเป็นการสร้างคอนเทนต์คุณภาพ ถ้าทำให้สังคมแย่ลงจะไม่ใช่การทำหน้าที่ได้ดี เรียกได้ว่าเป็นเหมือนจรรยาบรรณของอาชีพด้านสื่อ ที่ต้องทำหน้าที่เผยแพร่สื่อในแต่ละรูปแบบให้มีประโยชน์ต่อสังคม และด้วยความมีความมีรับผิดชอบต่อสังคม


การทำงานของคนสร้างเรื่อง 

    ต้องทำงานร่วมกับทีม และทำเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทีมและผู้ชม เริ่มจากการดูกระแส ประชุมแลกเปลี่ยนไอเดีย หรือกรณีมีลูกค้าถ้าได้ไอเดียจากลูกค้ามา แล้วเลือก คัดแผนงานที่ดีที่สุดมา นำเสนอให้ลูกค้าถ้าโอเค จึงเริ่มเตรียม Pre-Production วางแผนให้เห็นภาพรวม แล้วก็ Production ออกกอง ได้ฟุตเทจมาตัดต่อ ออกมาเป็น Draft แล้วปรึกษาต่อเพื่อปรับแก้ เสร็จแล้วส่งให้ลูกค้า รับคอมเมนต์มาก็ปรับตามลูกค้า และลงรายละเอียดลงสี ใส่ Effect เป็นขั้นตอนของ Post-Production แล้วอัพโหลดลงโซเชียล อาจมีการตัดสั้นเพื่อทำ Hilight การโปรโมตต่าง ๆ เพิ่มเติม แล้วเก็บข้อมูลหลังบ้านว่ายอดเข้าถึงการกดเข้าชมดีไหม ลูกค้าพอใจหรือไม่ และนำมาพูดคุยกันเพื่อรับทราบกระแสตอบรับหลังเผยแพร่งาน เพื่อนำไปปรับปรุงในคลิปถัด ๆ มา


มาเป็นตัวแม่สร้างคอนเทนต์ 

    การมาเป็น Content Creator ไม่จำเป็นต้องเรียนจบตรงสายก็ได้ แต่การจะเป็น Content Creator ได้ ต้องมีใจ ความมุ่งมั่น ชอบการสื่อสาร มีความคิดสร้างสรรค์ แม้อาจจะมีสิ่งที่ทำให้คิดไม่ออกเป็นเพราะมีความคาดหวังในไอเดีย และวิธีแก้ปัญหาของคุณบี้คือการแยกประเภทคอนเทนต์ออกเป็น 3 ระดับ คือระดับ Hero คือคอนเทนต์ที่คาดหวังให้ปัง ใช้เวลา พลังและทุนเยอะ, Hub คอนเทนต์ที่ทำได้เรื่อย ๆ ไม่คาดหวังเยอะ และ Help ไม่คิดเยอะ อยากทำ ไม่คาดหวัง หลายทีที่ไอเดียแบบ Hero จะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งตัว ก็สามารถเก็บไอเดียเหล่านั้นได้ ถ้าแบ่งประเภทคอนเทนต์ตามนี้ นอกจากนี้คือต้องรับมือกับอุปสรรคได้ คือใจ ต้องทำให้ใจเข้มแข็ง ต้องเจออุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอมเมนต์ที่เป็นไปในทางลบ ทำให้เสียกำลังใจ หรือความผิดหวังจากการคาดหวังผลตอบรับของคอนเทนต์ 

    คุณบี้ยังแนะนำเพิ่มเติมว่าคนที่อยากทำอาชีพนี้ต้องดูเยอะ ๆ เหมือนกับการเก็บข้อมูล ดูว่าคนอื่นทำอย่างไร กระแสเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีความเชื่อมั่นในการทำงานของตัวเอง ตามนิยามของอาชีพที่จะให้ความรู้ ความบันเทิงและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม มองหาสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา อีกทักษะที่อาจจะช่วยให้ต่อยอดได้ในอนาคตคือการบริหารทีม อย่างการก่อตั้งบริษัทหรือขยายขอบเขตการทำงาน ก็ต้องรู้จักการจัดการคน แจกแจงงานและพัฒนางานร่วมกัน ก็จะทำให้เป็น Content Creator ที่เติบโตได้


รายได้ของ Content Creator 

    รายได้จากการทำงานเป็น Content Creator หรือทำงานบน Platform อย่าง Youtube ก็มีรายได้จากหลายช่องทาง คือ รายได้จากลูกค้าติดต่อมาให้ทำคลิปเพื่อโปรโมทสินค้า, รายได้จากโฆษณา ยอดวิว หรือเรียกว่ายอดการ Adsense จากที่คลิปมีโฆษณาขึ้นมาแทรกนั่นเอง, การขายของ หรือ Merchandiser การขายสินค้าจากช่อง เช่น หมวก เสื้อ กระเป๋า แล้วแต่จะคิดออกมาขาย ก็ได้รายได้จากการซื้อของแฟนคลับ และจากการออก Event กิจกรรมที่ไปนอกสถานที่ ได้เป็นเหมือนค่าตัว ใครทำเกี่ยวกับเพลงก็ได้ออกงานแสดง

​“น้อง ๆ อาจจะมีความคิดว่าไม่รู้จะค้นหาตัวเองได้ยังไง อยากให้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ในชีวิต ลองทำไป เพราะการที่ได้ทำอะไรใหม่ ๆ มันคือการได้ศึกษา ทำไปก่อน ทำไม่สำเร็จก็ช่างมัน”