logoedukey

นักภูมิสารสนเทศ อาชีพที่อยู่เบื้องหลังข้อมูล

30 พฤษภาคม 2566นิโลบล อักษรโศภณพันธุ์แนะแนวอาชีพ 103

แชร์บทความนี้

นักภูมิสารสนเทศ อาชีพที่อยู่เบื้องหลังข้อมูล

    การแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ที่จังหวัดระยองเมื่อต้นปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา มีทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังการแก้ปัญหากันหลายฝ่าย และ หนึ่งในนั้นก็คือ ' นักภูมิสารสนเทศ หรือ นักเทคโนโลยีสารสนเทศ ' ที่มีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านทะเลและชายฝั่ง จนนำไปสู่การวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด

    วันนี้ทาง Edukey ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ' คุณณัทธร แก้วกู่ ' นักภูมิสารสนเทศชำนาญการของ GISTDA ถึงแนวทางการทำงาน และ จุดเริ่มต้นของการมาทำอาชีพนี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับน้อง ๆ ที่สนใจกัน

“ ตัวผมเองค่อนข้างชอบ หรือ ถนัดเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว พอได้เรียนด้าน GIS หรือ Remote Sensing ที่ไม่ได้เรียนแต่ในห้องเรียนอย่างเดียว มีการปฏิบัตินอกสนามด้วย ก็ทำให้ยิ่งชอบมากขึ้น ”

เส้นทางอาชีพ 

    ก่อนจะมาเป็นนักภูมิสารสนเทศได้ ส่วนใหญ่จะเรียนจบด้านนี้มาโดยตรง คือเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ การวิเคราะห์ข้อมูลและภูมิศาสตร์ ความรู้ที่ต้องมีคือความรู้ด้านภูมิศาสตร์ การแปลข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม การอ่านแผนที่ และ ความรู้เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี การใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ถ้ามีความสามารถในการเขียนโค้ดก็จะช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งอาชีพนี้จะมีความเชี่ยวชาญหรือเฉพาะทางที่แตกต่างกันไป เลือกได้ตามความสนใจและความถนัด


นิยามอาชีพ 

    นักภูมิสารสนเทศหรือนักเทคโนโลยีสารสนเทศทำงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีมาใช้กับงานเชิงพื้นที่ เชิงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ รวมอยู่ใน 3S คือ

    1. GIS ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อประมวลผล จัดทำฐานข้อมูลจากการทำสำรวจระยะไกล 

    2. Remote Sensing เป็นการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมหรือโดรนเพื่อเก็บข้อมูล 

    3.GPS ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลกมาจัดทำข้อมูล 

    ทำงานโดยการใช้ข้อมูลจากหลายที่ ทั้งภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายจากเซนเซอร์ระยะไกล มาประมวลผลเป็นข้อมูลด้านต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้ใช้งาน งานนี้มีตำแหน่งเดียว แต่แยกตามความเชี่ยวชาญ เช่น ด้านทะเลและชายฝั่ง ด้านภัยพิบัติ ด้านการเกษตร ด้านวัฒนธรรมและสังคม เป็นต้น


ขั้นตอนการทำงาน 

    ในกรณีที่มีเหตุการณ์ภัยพิบัติ หรือ อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และภูมิศาสตร์เมื่อได้รับแจ้งเหตุ ก็จะเริ่มที่การการประชุมทีม จากนั้นรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อไปสนับสนุนและวิเคราะห์ เพื่อให้เหตุที่ได้รับแจ้งได้รับการแก้ไข จากนั้นแบ่งหน้าที่ในทีมว่าใครทำอะไร พร้อมวางแผนการแก้ไข และ คาดการณ์ล่วงหน้าว่าพื้นที่ไหนได้รับความเสียหายบ้าง ให้เตรียมรับมือ แล้วจัดทำรายงาน สุดท้ายจัดส่งหน่วยงานที่ร้องขอ หรือ หน่วยงานที่กำลังปฏิบัติอยู่หน้างาน แล้วเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ลงเว็บไซต์ GISTDA อีกช่องทาง 

    การเข้ามาทำงานไม่มีใบประกอบวิชาชีพ แล้วแต่หน่วยงานที่จะรับเข้าทำงานโดยการสอบเข้าอย่างไร บางที่แค่สอบสัมภาษณ์ บางที่มีสอบวัดระดับ แต่อาชีพนักเทคโนโลยีสารสนเทศหรือนักภูมิสารสนเทศนี้มีความต้องการมาก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านใด เพราะต้องอาศัยความสามารถในการอ่าน แปลและวิเคราะห์ข้อมูล พร้อมความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการสนับสนุนการทำงานตามเป้าหมาย


รายได้ 

    นักภูมิสารสนเทศสามารถเลือกการทำงานได้ทั้งงานประจำตามหน่วยงาน รับรายได้เป็นเงินเดือน หรือเป็นฟรีแลนซ์ นักวิจัยอิสระรับงานเป็นชิ้น อิสระในการรับจ้าง หรือจะรับงานเสริมด้วยก็ได้เช่นกัน


ฝากถึงน้อง ๆ 

    ยุคสมัยเปลี่ยนไป ตอนนี้น้อง ๆ สามารถเข้าถึงช่องทางการค้นหาตัวเองได้มากขึ้น มีโอกาสลองทำและค้นหาข้อมูลได้ง่ายกว่าเดิมมาก ขอแค่ให้เริ่มจากการลอง ถ้ารักก็ลุยต่อไป

“ อันดับแรกผมให้ลองก่อนเลยครับ พอเราลองเราจะรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันใช่ตัวราหรือเราชอบหรือเราสนุกกับมันไหม ถ้าเราทำแล้วชอบและสนุกไปกับมัน ผมบอกได้เลยว่าให้เต็มที่กับมันไปเลย แล้วเดินหน้าในสายงานที่น้อง ๆ รัก ”