Location Manager นักหาที่มือทองของกองถ่าย
“หึ่ย ตึกนี้คุ้นๆ” “เอ้า แถวบ้านเราหนิ” “ใช่ตรงนี้หรอ ทำไมไม่เหมือนที่เคยเห็น”
เคยเป็นมั้ยกับการเจอสถานที่ที่คุ้นเคยโผล่มาในภาพยนตร์ หรือเห็นตามสื่อต่างๆ แม้แต่การตามหา สถานที่ที่อยู่ในภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับผู้อยู่เบื้องหลังการหาสถานที่สุดพิเศษเหล่านี้ นั้นคืออาชีพ Location Manager กับคุณวีระชัย สุขสมจินต์ ผู้สรรหาสถานที่ ในภาพยนตร์ไทยมาแล้วหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องชั่วฟ้าดินสลาย , ลัดดาแลนด์ , ATM : Er Rak Error , พี่มากพระโขนง , คิดถึงวิทยา , เพื่อนที่ระลึก , Ghost Lab
กว่าจะมาเป็นนักหาที่
พี่วีระชัย จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย หอการค้าไทย คณะนิเทศศาสตร์ เมื่อต้องเริ่มต้นค้นหาสิ่งที่อยากทำ พี่วีระชัยจึงเริ่มจากการฝึกงานกับโปรดักส์ชั่นเฮ้าส์ ด้วยความที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวและถ่ายรูป จึงถูกชักชวนให้ไปออกกอง (ออกกองหมายถึง การออกไปทำงานที่กองถ่าย) ด้วยเสมอ จนได้มาทำแผนกฝ่ายจัดการ แต่ด้วยความที่ไม่ชื่นชอบเรื่องการจัดการ จึงมีคนมาชวนพี่วีระชัย ทำตำแหน่ง Location Manager ซึ่งการทำงานในช่วงแรก มีปัญหาเยอะมาก ทั้งการขับรถไม่เป็น ไม่รู้จักเส้นทางใหม่ๆ แต่เมื่อได้ลองทำไปเรื่อยๆ ก็เกิดความชื่นชอบและการเรียนรู้จากประสบการณ์จนมีทักษะในอาชีพนี้
การทำงานของ Location Manager
ขั้น Pre - Production
1. เมื่อได้รับบทมาแล้ว สิ่งแรกคือการอ่านบทและทำความเข้าใจเรื่องราวประมาณหนึ่ง ก่อนที่จะนัดบรีฟกับผู้กำกับ หรือจะลองเอาสถานที่ที่สต็อกไว้ นำไปเสนอให้กับผู้กำกับตอนวันบรีฟก็ได้
2. ในวันรับบรีฟจากผู้กำกับ ให้ทำความเข้าใจและเห็นภาพให้ตรงกับผู้กำกับ จากนั้นจึงเริ่มหาสถานที่ อาจจะเริ่มหาจากอินเทอร์เน็ต อันไหนตรงกับที่บรีฟหรืออยากลองเอาแบบอื่นไปเสนอ ก็เซฟเก็บไว้
3. เมื่อถึงวันเสนอให้ทางผู้กำกับ จึงลงรายละเอียดเรื่องราคา เรื่องการประสานงานกับทีมงานฝ่ายอื่นๆเช่น ทีมอาร์ต (ทีมอาร์ต หรือผู้กำกับศิลป์ คือตำแหน่งที่ช่วยจัดวางองค์ประกอบของงานทั้งหมดให้ได้ภาพออกมาตรงตามโจทย์ ที่ได้รับ)
4. ทำจดหมายติดต่อสถานที่ ลงรายละเอียดให้เจ้าของสถานที่เข้าใจการทำงานของกองถ่าย
5. เมื่อขอใช้สถานที่ได้แล้ว จึงนัดทีมงานมา Blockshot (Blockshot คือ การลงพื้นที่หามุมที่เหมาะสมแก่การถ่ายทำ)
ขั้น Production
ตำแหน่ง Location Manager จะดูแลภาพรวมของสถานที่ เช่น รถทีมงานควรจอดตรงไหน ห้องน้ำอยู่ตรงไหน ดูแลทุกอย่างไม่ให้เกิดความเสียหาย และเมื่อใช้สถานที่เสร็จแล้ว ต้องตรวจเช็คสถานที่ให้เรียบร้อย
ทักษะที่ Location Manager ควรมี
ทักษะการติดต่อ สื่อสารกับผู้อื่น เป็นสิ่งที่ฝึกกันได้และจำเป็นต้องใช้เพื่อเจรจา การหาสถานที่ใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ดีและเป็นการอัปเดตสถานที่ให้กับตนเองเสมอ อีกทักษะที่ช่วยเสริมให้กับอาชีพนี้คือทักษะการถ่ายภาพ จะช่วยให้ผู้อื่นเห็นภาพตรงกันมากขึ้น ไม่ต้องถ่ายสวยมากก็ได้ แต่ต้องมีมุมมองที่แปลกใหม่ เผื่อในสถานที่เดียวกัน จะสามารถทำให้เกิดเป็นอีกหลายสถานที่ในเรื่องได้ครับ
ช่องทางการหารายได้
การเสนอขายสถานที่สามารถใช้ได้กับการทำงานสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ละคร , ภาพยนตร์ , Music Video , สารคดี , รายการโทรทัศน์ ต่างก็มีการใช้ Location เหมือนกัน และการที่เรามีสต๊อกสถานที่เยอะสามารถเอาไปขายให้กับบางกองถ่ายที่ไม่ได้มีงบจ้างบุคคลากรหา สถานที่ได้
ฝากถึงน้องๆที่สนใจอาชีพ Location Manager
“อาชีพ Location Manager คือการหาสถานที่มาใช้ในการถ่ายทำ เราเชื่อว่าทุกที่คือสถานที่ อย่าพึ่งตัดสินเองว่าคงไม่ให้ถ่ายทำ จนกว่าคุณจะเดินเข้าไปถามว่าถ่ายได้หรือไม่ได้ ความยากมันอยู่ตรงนี้ เพราะทุกที่มันคือสถานที่ครับ”
“ไม่มีรางวัลสถานที่ยอดเยี่ยม เพราะสถานที่เหล่านั้นไม่ได้ถูกสร้างด้วยเรา การทำงานโดยที่ไม่ให้เกิดผลเสียต่อผู้อื่น ไม่เกิดปัญหากับสถานที่ ไม่ทำให้เจ้าของสถานที่ไม่สบายหากมีการถ่ายครั้งหน้าเท่านี้ก็โอเคแล้วครับ”