logoedukey

Film Photographer อาชีพที่เล่าเรื่องผ่านภาพฟิล์ม

14 มีนาคม 2566ทอฝัน กันทะมูลแนะแนวอาชีพ 36

แชร์บทความนี้

Film Photographer อาชีพที่เล่าเรื่องผ่านภาพฟิล์ม

​“มีอาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำว่าถ้าเครียดให้ลองเล่นฟิล์มลองใช้กล้องฟิลฺ์มดู คราวนี้พอไปลองใช้ก็คือ ติดใจตั้งแต่ตอนนั้น”


พูดคุยไปกับ คุณพิ้ง - พัชรกันย์ ภู่อนุสาสน์ ช่างภาพกล้องฟิล์ม เพจ 170CM ผ่านช่องมองภาพของชีวิต 


เพราะเครียดจากการเรียน จึงเริ่มหันมาเล่นฟิล์ม 

    คุณพิ้ง เริ่มรู้ตัวเองว่าไม่ได้ชื่นชอบสายวิทย์จึงหันไปทางสายศิลป์ ซึ่งเลือกเรียนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากความเครียดที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการเรียน อาจารย์ที่ปรึกษาของคุณพิ้งจึงแนะนำให้ลองเล่นกล้องฟิล์มเพื่อเป็นงานอดิเรก และนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพ ช่างภาพกล้องฟิล์ม

การทำงานและสิ่งที่ต้องเจอในแบบ 170CM 

    จากงานอดิเรกกลายมาเป็นผลงาน ในสายงานช่างภาพความฝันคือการมี Exhibition หรือนิทรรศการเป็นของตัวเองหรืออย่างน้อยคือ มีที่ ๆ เราสามารถโชว์ผลงานของตนได้ จึงเกิดเพจ 170CM ขึ้นมา ซึ่งผลงานที่เด่นที่สุดของเพจ คือ การถ่ายภาพบุคล ในการรับงานถ่ายแบบแต่ละครั้งจะผ่านขั้นตอนการทำงานทั้งหมด 3 ขั้นตอน คือ

    1.Location Analysis คือ การวิเคราะห์ศึกษาบริบทของพื้นที่ การออกแบบองค์ประกอบของสถานที่ให้เข้ามาอยู่ในภาพได้อย่างลงตัว 

    2.User Analysis การทำความเข้าใจหรือศึกษาแบบที่จะมาถ่าย เพื่อดึงเอาเสน่ห์ออกมาให้ได้มากที่สุด แต่ยังคงความเป็นตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นใจในการเป็นแบบให้กับ 170CM 

    3.Case Study หรือการหา Reference ก่อนการถ่ายภาพ เพื่อให้ภาพที่อยู่ในหัวบอกเล่าออกมาได้อย่างชัดเจน เป็นการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างช่างภาพและแบบว่าจะสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาใน Concept ในแนวคิดรูปแบบไหน ท่าโพสเป็นอย่างไร ทั้ง 3 ข้อเหล่านี้เป็นขั้นตอนเพื่อให้เกิดเป็น Final Design หรือการออกแบบเป็นที่สิ้นสุดที่วางไว้ออกมาดีที่สุด

​“เราใช้การเรียน การออกแบบงานสถาปัตย์ มาประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพ”

    อุปสรรคที่ต้องเจอในการทำงาน อาจจะเกิดได้ในหลายกรณี เพราะในการทำงานอาจจะเกิดเรื่องผิดพลาดหน้างานได้ เพียงแต่ว่าสามารถแก้ไขได้ด้วยการเตรียมพร้อมที่ดี ในกรณีกล้องเสีย สิ่งที่ควรทำก็คือการพกกล้องสำรองไป หรือ ในกรณีฟิลม์ที่ใช้ถ่ายเกิดหมดอายุหรือบูด ก็ต้องทำการวัดแสงให้ดีเพื่อไม่ให้รูปที่ออกมาเกิดคอนทราสต์มากไปจนเกิดภาพมืด หรือแม้แต่ปัญหาง่าย ๆ ที่หากเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้เซ็ทภาพที่ถ่ายมาทั้งวันพังและไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้เลยก็ยังมี เช่นฟิล์มที่ใส่ไม่เข้าล็อกของหนามเตย ทำให้ฟิล์มไม่เดิน และต้องเสียเวลาในการ Re-shoot หรือการถ่ายใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากเกิดปัญหาเหล่านี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการจดจำและเรียนรู้ในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปเป็นบทเรียนในการแก้ปัญหาในอนาคต

​“การซ้อมมันสำคัญทำให้เรารู้ด้วยว่า ปัญหานอกจากเรื่องรูปของเราแล้ว มันมีปัญหาทางเทคนิค อะไรอื่น ๆ อีกเยอะแยะมากมาย”


ว่าด้วยเรื่องของฟิล์ม การเลืองกล้อง และ การใช้งาน 

    ตัวฟิล์มที่ใช้ในการถ่ายภาพนิ่ง ผลิตขึ้นจากวัสดุพลาสติกที่ เคลือบด้วยคาร์บอนสีดำ ซึ่งรูปที่ออกมาก็จะให้โทนสีที่แตกต่างกัน เช่นสีเหลืองสีฟ้าหรือสีเขียว ขึ้นอยู่กับชนิดของฟิล์มที่ใช้ ฟิล์มอีกรูปแบบหนึ่งจะถูกเรียกว่า ฟิล์มบูดหรือฟิล์มที่หมดอายุ จะได้สีที่เพี้ยนออกไปจากสีในความเป็นจริง หากวัดแสงไม่ดีอาจจะทำให้ภาพที่ถ่ายมามืดและใช้งานไม่ได้เลย การเลือกใช้กล้องในการถ่ายขึ้นอยู่กับความต้องการ หรือ แนวคิดในการถ่าย ซึ่งกล้องฟิล์มก็แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท

1. กล้องฟิล์มแบบกะระยะ ส่วนมากจะพบได้ในกล้อง Compact ขนาดเล็ก วิธีใช้คือ เล็งแล้วถ่าย หรือที่เรียกว่า Point & Shoot ความยากของมันคือ เราไม่สามารถปรับระยะได้ผ่านเลนส์ ต้องอาศัยการเดินกะความห่างเอา เหมาะสำหรับคนที่กำลังมองหากล้องฟิล์มที่ใช้ถ่ายเล่นไม่จริงจัง

2. กล้องฟิล์ม RF (Rage Finder) เป็นกล้องฟิล์มที่มีลักษณะการโฟกัส โดยมองผ่านช่องมองภาพ ซึ่งเป็นคนละช่องกับเลนส์รับภาพ โดยการโฟกัสนั้นจะมีลักษณะเฉพาะ ที่เรียกว่า Parallax Focus (แบบภาพซ้อน) 

3. กล้องฟิล์ม SLR (Single Lens Reflex ) เป็นกล้องฟิล์ม ที่จะมีลักษณะการโฟกัสผ่านเลนส์ กล่าวคือ ในช่องมองภาพ (View Finder) เราเห็นอย่างไร ภาพที่เราได้ก็จะเป็นอย่างนั้น กล้องฟิล์ม SLR เป็นกล้องที่ถูกพัฒนามาจาก กล้อง RF โดยการปรับปรุงจุดด้อยบางอย่างของกล้องฟิล์ม RF
    สำหรับการใช้งานถ่ายกล้องส่วนใหญ่จะไม่มีตัวช่วยวัดแสงมาให้ การใช้ Application ในการช่วยวัดแสงทำให้การทำงานรวดเร็ว และ ง่ายมากยิ่งขึ้น

​“มันจะมีฟิล์มที่ตกค้างอยู่ในสมัยก่อน ไม่ได้ผลิตขึ้นมาใหม่ มันเหมือนเป็นการ Challenge ตัวเองเหมือนกัน”


ประสบการณ์ที่ได้รับและรายได้จากการเป็นช่างภาพกล้องฟิล์ม 

    อีกหนึ่งก้าวสำคัญของ 170CM คือการได้จัดนิทรรศการเป็นของตัวเองในชื่อ 170Cm 1 st Exhibition “How tall are you” ที่เสนอแนวคิดในแบบที่คุณพิ้งอยากจะบอกเล่าผ่านมุมมองแบบ 170cm และจากการเก็บสะสมผลงานมาเรื่อย ๆ รวมถึงผู้ติดตามในเพจ ทำให้รายได้จากงานพื้นฐานจะอยู่ที่ 4,000-6,000 บาท แต่ถ้าหากเป็นงานที่ใหญ่ขึ้นก็จะขยับไปอยู่ที่ราว ๆ 7,000-10,000 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในการถ่ายและจำนวนฟิล์มที่อยากได้ของผู้จ้าง

​“เราถ่ายรูปตามความสูง 170cm ของเรา แล้วเราอยากให้ทุกคนมาดูรูปตามความสูงของตัวเองบ้างว่า มีมุมมองต่อรูปนี้อย่างไร”


Practice Make Perfect 

    สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้งานออกมาสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นคือ การฝึกฝน เพราะการถ่ายภาพฟิล์มไม่สามารถลบแล้วถ่ายใหม่ หรือ ถ่ายแล้วเช็กภาพที่ถ่ายได้ในทันที จำเป็นต้องใช้ทั้งประสบการณ์และความชำนาญ ซึ่งล้วนมาจากการฝึกฝน 

    ผลงานดี คนติดตามชอบ งานจ้างก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากการถ่ายภาพฟิล์มจะสร้างอาชีพให้กับคุณพิ้งเองแล้ว ยังสร้างแรงบรรดาลใจให้กับใครหลาย ๆ คนที่กำลังสนใจในการถ่ายภาพฟิล์มอีกด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับใครที่กำลังสนใจในอาชีพนี้อยากจะเป็นช่างภาพกล้องฟิล์ม การลงมือทำ การฝึกฝน เป็นสิ่งที่สำคัญ ยิ่งได้ลงมือทำเร็วเท่าไหร่โอกาสและความฝันก็จะยิ่งใกล้เข้ามาไวมากขึ้นเท่านั้น


​“มองว่าถ้าเรามีพื้นฐานเพียงพอ การฝึกซ้อมที่เพียงพอเราก็จะสามารถรับงานได้ สิ่งที่สำคัญคือการฝึกบ่อย ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและสนุกไปกับมันอย่าเพิ่งท้อ”