logoedukey

รู้จักอาชีพ ‘นักปรุงบทเพลง’ ไม้ต่อของนักแต่งเพลง

28 กุมภาพันธ์ 2566ทอฝัน กันทะมูลแนะแนวอาชีพ 25

แชร์บทความนี้

รู้จักอาชีพ ‘นักปรุงบทเพลง’ ไม้ต่อของนักแต่งเพลง

    ครั้งนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับอีกอาชีพที่อยู่เบื้องหลังบทเพลงที่ไม่ใช่แค่นักแต่งเพลงหรือนักดนตรีนั่นคือ Sound Engineer และ Mixing & Mastering Engineer คุณแกรนด์ วรวรรธน์ วิวรรธน์วณิชย์ ที่เคยทำงานร่วมกับ D Gerrard, เพลงละครบาปอยุติธรรม, ตุ๊ดซี่ แอนด์เดอะเฟค เดอะมูฟวี่, Concert นับ 1-7 ของ Bodyslam, LIVE concert ของ Lomosonic และ Live Session ของ BigAss


นักปรุงบทเพลง คืออะไร ? 

    ถ้าเปรียบเทียบการทำเพลงเหมือนการทำอาหาร ที่นักแต่งเพลงหรือศิลปิน เขียนสูตรอาหาร เตรียมวัตถุดิบที่เป็นเสียงดนตรี เสียงร้องมาแล้ว Mixing & Mastering Engineer ก็เป็นเหมือนนักปรุงอาหารที่ช่วยให้เพลงมีรสชาติตามที่เขียนสูตรไว้ และนำไปขายหรือลงใน Platform Streaming เพลงได้หลากหลาย โดยอาชีพนี้ต้องทำงานใน 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ 

- Sound Engineering การควบคุม คุณภาพเสียงให้ถูกต้องตามค่ากำหนดที่เป็นไปของปัจจุบัน 

- Art การสร้างสรรค์และออกแบบเสียงให้มีคาแร็กเตอร์ตามแนวเพลง

ขั้นตอนการทำงานของ Mixing & Mastering Engineer 

    การทำเพลง เพลงหนึ่งออกมา สามารถทำได้เองถ้าได้เรียนรู้และมีทักษะ หรือทำงานร่วมกับทีม ซึ่งปัจจุบันวงการเพลงไทยมักจะทำแบบนี้เป็นส่วนใหญ่ กับนักแต่งเพลง ศิลปิน Producer และวงดนตรีได้ ซึ่งแบ่งได้ออกเป็นขั้นตอนได้ดังนี้ 

- Pre-Production แต่งเพลง เรียบเนื้อร้องและดนตรี 

- Production ช่วงของการบันทึกเสียงเครื่องดนตรี คนร้อง 

- Post-Production คือการทำ Mixing & Mastering ให้เสียงจากหลาย ๆ แทร็กมาเป็นแทร็กแบบแยกเสียง ซ้ายขวา Stereo โดยสามารถแก้ไขเสียงแบบแยกชิ้นดนตรีได้ เรียกว่า Mixing ส่วนการ Mastering คือนำส่วนที่ Mixing เสร็จแล้วมาจูนโทน ปรับความดังเบา ภาพรวมของเพลง ตามความต้องการ และสามารถเปิดได้ทั้งในวิทยุได้ ช่องทาง Streaming ต่าง ๆ ได้


ความยาก-ง่ายของอาชีพ Mixing & Mastering Engineer 

    ขึ้นอยู่กับแนวเพลง มันจะยากเมื่อเราไม่ได้ฟังเพลงแนวนั้นแล้วต้อง Mixing & Mastering เพลงนั้น ดังนั้นคนทำอาชีพนี้ต้องหมั่นฟังเพลงให้หลากหลาย ถามคนนั้นคนนี้ว่าแนวเพลงนี้ฟังวงไหน ขอคำแนะนำ เปิดรับเพลงใหม่ ๆ เพื่อเข้าใจแนวทางของศิลปิน เพื่อเก็บข้อมูล ศึกษาเพลงไว้เยอะ ๆ จะได้ทำงานออกมาได้ตามที่วงต้องการได้ 

    นอกจากนี้คือมีความยากอยู่ที่วัตถุดิบ เสียงดนตรีที่อัดมาแต่แรก ถ้าคุณภาพต่ำ หรือวงดนตรีที่ไม่ค่อยมีทุนก็จะทำงานมากขึ้นหน่อยเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีเท่าที่จะทำได้ รวมถึงเรื่องความคลาดเคลื่อนของการตีความบทเพลงที่ต่างกันของ Mixing & Mastering Engineer กับนักแต่งเพลง จึงต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันแต่แรกจะทำให้งานเป็นไปได้ดี


Mixing & Mastering Engineer ที่ดีต้องเป็นอย่างไร 

    คุณแกรนด์ได้แนะนำไว้เลยว่าการเป็น Mixing & Mastering Engineer ที่ดีต้องเริ่มจากการพยายามสื่อสารกับลูกค้า เข้าใจสิ่งที่เขาต้องการให้ได้ สนุกที่จะทดลองอะไรใหม่ ๆ ในงาน ทั้งต้องขยันหาความรู้ใหม่ ๆ ขอคำแนะนำจากคนในวงการ ร่วมเวิร์คชอป หาประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันก็หาได้งานในอินเตอร์เน็ต ฟังเพลงให้หลากหลาย ฟังเพลงที่ฮิตในแต่ละแนว แต่ละกระแส วิเคราะห์ว่าดีอย่างไร ทำอะไรลงไปในงานเพลงนั้นบ้าง 

    อีกอย่างคือต้องใช้ความชอบจริง ๆ เพราะต้องอยู่กับงานนี้นาน หนึ่งเพลงอาจจะต้องปรับ แก้ไขเป็นอาทิตย์ และต้องใช้โปรแกรมเป็น ซึ่งปัจจุบันก็มีทั้งโปรแกรมฟรีและเสียเงิน สำหรับใครที่อยากลองก็แนะนำให้ลองแบบฟรีก่อนถ้าชอบจริงค่อยลงทุน เพราะถ้าชอบแต่งเพลง เขียนเพลง ก็ไม่จำเป็นต้อง Mix เพลงเอง จึงต้องมีอาชีพนี้เข้ามาช่วยศิลปิน


แนะนำน้อง ๆ 

“ถ้าใจเต้นแรงกับสิ่งไหน ให้ลงมือทำเลย” 

    คุณแกรนด์แนะนำน้อง ๆ ว่าถ้าได้ลองทำโปรเจคอะไรสักอย่างแล้วข้างในบอกว่าใช่ ลองลุยกับมันไปเลย หรือลองพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ เช่น พี่แกรนด์ได้ลองไปฝึกงาน สัมผัสบรรยากาศนั้นให้ได้มากที่สุดแล้วลองมาเลือกว่าเราอยากเป็นคนคนไหน อยากทำอะไรในส่วนนั้น ๆ จากนั้น หาข้อมูลเยอะ ๆ ลองทำบ่อย ๆ ก็จะได้เจอสิ่งที่ชอบในไม่ช้า