logoedukey

นักออกแบบกลิ่น ให้เป็นมากกว่ากลิ่น

3 กุมภาพันธ์ 2566ทอฝัน กันทะมูลแนะแนวอาชีพ 44

แชร์บทความนี้

นักออกแบบกลิ่น ให้เป็นมากกว่ากลิ่น

    Edukey ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณก้อย - ชลิดา คุณาลัย ผู้ประกอบอาชีพเป็นนักออกแบบกลิ่น เริ่มต้นจากความชอบกลายเป็นอาชีพ และ ใช้กลิ่นในการสื่อสาร สร้างกลิ่นให้เป็นแรงบันดาลใจ รังสรรค์กลิ่นให้เป็นมากกว่ากลิ่น มาดูกันว่าอาชีพนี้ทำอะไรบ้าง


จากความชอบน้ำหอมมาเป็นนักออกแบบกลิ่น 

    คำถามเดียวก่อนเข้างานคือ ชอบน้ำหอมไหม? เพราะความชอบของคุณก้อยเลยได้มีโอกาสในการทำงานใน Perfume House ที่มีการทำงานหลายฟังก์ชัน ทั้งออกแบบกลิ่น และ นักปรุงน้ำหอม ซึ่งงานออกแบบกลิ่นสามารถทำงานได้หลายแบบ ไม่ว่าจะออกแบบกลิ่นผลิตภัณฑ์ดูแลเสื้อผ้า น้ำหอม สร้างเครื่องมือช่วยคนตาบอดโดยใช้กลิ่น หรือ ออกแบบกลิ่นสำหรับสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และ พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น


ความพิศวงของประสาทสัมผัส 

    ในบรรดาประสาทสัมผัสที่มีทั้งหมด 5 อย่าง คือ ตา หู จมูก ปาก มือ ทุกอย่างสามารถหยุดได้ยกเว้นจมูก ถ้าไม่อยากเห็น หลับตาได้ ถ้าไม่อยากได้ยินก็ปิดหู แต่เราปิดการดมกลิ่นไม่ได้ เพราะการดมกลิ่นเป็นส่วนหนึ่งของการหายใจ แถมกลิ่นยังส่งตรงถึงสมอง จึงมีผลต่อความทรงจำอย่างมาก

“ กลิ่นเป็นประสาทสัมผัสที่พิเศษมาก เป็นสัมผัสเดียวที่ต่อตรงไปถึงสมอง โดยไม่ผ่านการตีความ ทำให้ประสาทสัมผัสนี้เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำ และ ทำให้เกิดความรู้สึก ”


การทำงานของนักออกแบบกลิ่น 

    การทำงานออกแบบกลิ่น ไม่ได้มีขั้นตอนที่ซับซ้อน แต่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างมากที่จะช่วยให้มีประสบการณ์ และ วิเคราะห์กลิ่น ทำการออกแบบออกมาได้อย่างเหมาะสม บางคนก็จะมีเอกลักษณ์ของตัวเองสามารถเปิดธุรกิจของตัวเองได้ โดยวิธีการทำงานจะเริ่มจาก ‘ การรู้จักผลิตภัณฑ์ที่จะทำงานด้วย ’ คือการทำความรู้จัก เข้าใจในผลิตภัณฑ์ การบริการ หรือ สถานที่นั้น ที่จะทำการออกแบบกลิ่นให้ แล้วจึง ‘ ศึกษาความต้องการของลูกค้า ’ ของผลิตภัณฑ์นั้น เพื่อที่จะได้ออกแบบกลิ่นออกมาได้เหมาะสมกับความต้องการ ยกตัวอย่าง ออกแบบกลิ่นให้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด กลิ่นที่ต้องมีคือกลิ่นสะอาด แต่จะเป็นแบบสะอาดแบบไหน สะอาดแบบสดชื่น สะอาดแบบสบาย ๆ ก็แตกต่างกัน ต่อมาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ‘ ต้องรู้ว่าใครเป็นกลุ่มเป้าหมาย ’ ถ้าจะขายให้ผู้ชายที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย ก็ต้องเป็นแบบหนึ่ง ถ้าขายให้กลุ่มวัยรุ่นที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การออกแบบกลิ่นออกมาเหมาะสมที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์และผู้ใช้ 

    ถ้าอยากเป็นนักอออกแบบกลิ่น ทำได้ 2 ทาง คือ เข้าไปอยู่ในบริษัทผลิตหัวน้ำหอม สำหรับบริษัทใหญ่ ๆ ก็น่าสนใจ เพราะตอนนี้อาชีพนักออกแบบกลิ่นมีคนไทยทำน้อยมาก และ เป็นที่ต้องการมากในปัจจุบัน อีกแนวทางคือ ทำกิจการของตัวเอง เปิด Studio ของตัวเอง ก็เป็นที่นิยม คนรุ่นใหม่ก็ทำแบบนี้เหมือนกัน


ทักษะที่นักออกแบบกลิ่นต้องมี 

    ทักษะการดมกลิ่น ไม่จำเป็นต้องดีหรือพิเศษกว่าคนปกติ แต่สามารถใช้จมูก สังเกตโลกได้ ต้องรู้จักพื้นฐานของกลิ่นก่อน ต้องรู้หลักการ Perfumery Study ตอนนี้ในประเทศไทยก็มีคอร์สสอนเรื่องนี้อยู่ สามารถตามไปศึกษาได้ เรียกได้ว่า ‘ จุดเริ่มต้นของคนที่อยากจะทำงานสายนี้ ต้องเริ่มต้นในการใช้จมูกไปพร้อมพร้อมกับตาและหู ’ นอกจากนี้ คือการเปิดโลกให้กว้างทั้งแนวคิด และ ประสาทการรับกลิ่น


“ ถ้าเราจะมาบอกว่าอะไรหอม อะไรไม่หอม พี่ว่ามันจะทำให้เราขีดเส้นตัวเองจนเราไม่ข้ามไปรู้จักกับสิ่งที่เขาบอกว่าไม่หอม เพราะฉะนั้นพอเราเปิดโลกตรงไม่หอมด้วย จริง ๆ มันก็ไม่ได้แย่นะ แล้วมันก็สนุกด้วย ”


‘ กลิ่น ’ ให้อะไรบ้าง 

    ‘ กลิ่น ’ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และ ยังให้ความสุข เป็นเหมือนเพื่อน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไปไหน ทำอะไร ก็สังเกตกลิ่น ดมไปหมด สร้างมิติหนึ่งให้กับชีวิตไม่น่าเบื่อ สนุก และ ทักษะการสกัดกลิ่น ออกแบบกลิ่นก็ยังต่อยอดเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรืออื่น ๆ ได้

“ ได้แรงบันดาลใจ หรือ ได้เครื่องมือบางอย่างที่สามารถไปต่อยอดที่ช่วยตัวเองก็ได้ ช่วยให้ตัวเองรู้สึกว่า ใช่ เรามีความสุข ในขณะเดียวกันเราก็เหมือนไปออกแบบเครื่องมืออะไรบางอย่างให้คนอื่นได้ใช้ชีวิตดีขึ้น ”