logoedukey

ชวนคุยเรื่อง "วิศวกรดาวเทียม" กับ "ซุปเปอร์" ปริพรรษ ไพรัตน์

28 พฤศจิกายน 2565Edukey Thailandแนะแนวอาชีพ 155

แชร์บทความนี้

ชวนคุยเรื่อง "วิศวกรดาวเทียม" กับ "ซุปเปอร์" ปริพรรษ ไพรัตน์
วันนี้ edukey.me ขอพาน้อง ๆ มารู้จักกับอาชีพสุดล้ำ "วิศวกรดาวเทียม" กับคุณพี่ "ซุปเปอร์" ปริพรรษ ไพรัตน์ Keyman คนเก่งของเราที่มีหน้าที่หลักคือการควบคุมอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทรงตัวของดาวเทียม !! แค่อ่านมาถึงตรงนี้ก็ว้าวแล้วใช่มั้ยล่ะ ใครอยากรู้จักอาชีพนี้เพิ่มไป อ่านต่อด้านล่างนี้ได้เลยยยย

จุดเริ่มต้นมาจากความฝันที่อยากเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของไทย

ตอนเด็กความฝันของเราคือการเป็น นักบินอวกาศหญิงคนแรกของประเทศไทย ซึ่งมันเป็นความฝันของเด็กที่ยิ่งใหญ่มาก พอโตมาหน่อยก็เริ่มสอบทั้งสายแพทย์และสายวิศวะ จนมาลงเอยที่ "คณะวิศวกรการบิน มหาวิทยาลัย พระจอมเกล้าพระนครเหนือ" และได้เรียนรู้การทำดาวเทียมตอนปี 2 ต่อมาพอขึ้นปี 3 ก็ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาดูงานที่ Gistda (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ) ทำให้เป้าหมายมันชัดเจนเลยว่า "ถ้าฉันเรียนจบจะเข้ามาทำงานที่นี่" ซึ่งพอเรียนจบก็ได้มาเป็น วิศวกรดาวเทียม กับ Gistda จริง ๆ

นิยามของ "วิศวกรดาวเทียม"

คำว่า "วิศวกรดาวเทียม" นั้นกว้างมาก พี่เลยอยากให้ลองนึกภาพก่อนว่า ในดาวเทียม 1 ดวง จะมีระบบต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โครงสร้างของดาวเทียม, software, อุปกรณ์ควบคุมการทรงตัวต่าง ๆ ซึ่งแต่ละอย่างก็ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางที่แตกต่างกันไป ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นวิศวกรดาวเทียมได้หมดเลย

กระบวนการทำงานของวิศวกรดาวเทียม

  1. Design System ออกแบบระบบให้สามารถทำงานได้ตามความต้องการ
  2. ประกอบและทดสอบดาวเทียม เช่น ทดสอบการสั่นสะเทือน ทดสอบในพื้นที่สุญญากาศ และทดสอบการทรงตัว
  3. ติดตั้งดาวเทียม ทดสอบในพื้นที่จริงอีกครั้งก่อนปล่อย และเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ความผิดปกติต่าง ๆ
  4. Operations mode การถ่ายภาพพื้นที่ที่ต้องการสำรวจ รับสํญญาณเครื่องบินและเรือ จำลองการทำงานของดาวเทียมดวงเล็ก

ได้รับโอกาสได้ไปต่อยอดแรงบันดาลใจที่ต่างประเทศ

วิศวกร 22 คน รวมถึงพี่ซุปเปอร์ ได้มีโอกาสไปฝึก Surrey Satellite ที่ประเทศอังกฤษถึง 2 ปี ทำได้เราเจอปัญหาว่า ถึงแม้ทักษะภาษาอังกฤษเราจะพอได้ แต่พอไปใช้งานจริงกลับไม่ได้เลย ซึ่งมีผลกับความเข้าใจในเนื้อหาที่ต้องเรียนรู้ ทำให้ต้องมาศึกษาเรื่องภาษาเพิ่มเติมด้วย ถือเป็นก้าวสำคัญที่ได้พัฒนาทั้งความรู้เรื่องดาวเทียม การใช้ภาษา รวมถึงเรื่องความรับผิดชอบ ซึ่งทั้งหมดนี้มันทำให้เราสนุกกับงานมากขึ้นด้วย

สิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำงานกับคนต่างประเทศ

อย่างแรกที่ได้เรียนรู้จากสังคมการทำงานของต่างประเทศคือ 'No Blame' ที่นี่จะไม่มีการกล่าวโทษกันเมื่อเกิดปัญหา แต่จะมาหาวิธีแก้ไขไปด้วยกัน ทำให้เรากล้าถาม กล้าสงสัยมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น การถามของเราจะต้องไม่ใช่การถามเรื่องเดิมซ้ำ ๆ แต่จะต้องเป็นเรื่องใหม่ เรื่องที่เราไม่รู้หรือไม่เข้าใจจริง ๆ เพื่อต่อยอดสำหรับไปหาข้อมูลเพื่อศึกษาเองต่อไป

รายได้ของวิศวกรดาวเทียม

สำหรับในสายงานนี้ในประเทศไทยจะเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 หลัก ส่วนรายได้ของต่างประเทศก็จะอยู่ที่ 6 หลักขึ้นไป

ทักษะที่จำเป็นสำหรับวิศวกรดาวเทียม

ความรู้ที่จำเป็นสำหรับสายงานวิศวกรดาวเทียม จะประกอบไปด้วย Mechanic, Power, Software, Radio Frequencey และ Physics ซึ่งแต่ละสายก็ต้องการความรู้เฉพาะด้าน ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำได้ทุกสาย และยังมีเรื่องของ Soft Skill ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เราต้องมี Teamwork สามารถทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้ดี รวมถึงต้องทำงานละเอียด รอบคอบ เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดด้วย

ฝากถึงน้อง ๆ ที่สนใจในอาชีพวิศวกรดาวเทียม

ทุกวันนี้โอกาสเปิดกว้างสำหรับทุกคนมาก ๆ พี่ซุปเปอร์อยากให้น้อง ๆ ลองหาสิ่งที่เราถนัดที่สุด เพื่อเป็น Specialist ของด้านนั้น ๆ ไปเลย และไม่ต้องกลัวว่าถ้าเป็นผู้หญิงแล้วจะได้โอกาสน้อยกว่า เพราะตอนนี้หลาย ๆ องค์กรก็มีแนวคิด #Space4Women รวมถึง #SpaceForAll เพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกคนขอแค่คุณมีคุณสมบัติเพียงพอ

และสุดท้าย อยากให้น้อง ๆ ตั้งใจทำในสิ่งที่เราอยากทำ และรายได้จะมาเอง