logoedukey

Youtuber อาชีพทันสมัย ใช้สิ่งที่ชอบสร้างเงิน

21 ตุลาคม 2565Edukey Thailandแนะแนวอาชีพ 104

แชร์บทความนี้

Youtuber อาชีพทันสมัย ใช้สิ่งที่ชอบสร้างเงิน

“เป็นอาชีพที่ต้องแลก ความยืดหยุ่นกับความไม่มั่นคง ทำให้ต้องมีวินัยในชีวิตมาก ๆ บางเดือนได้เงินเยอะมาก เดือนถัดมาไม่ได้เลยก็มี ต้องบริหารจัดการเงินให้ได้”

วันนี้พวกเรามีโอกาสได้นั่งคุยกับ แชมป์ ธกฤต - เจอร์รี่ ฉัตรชัย ต้นกำเนิด ช่อง Just ดู It หรือ จดอ ยูทูปเบอร์ไทยชื่อดังผู้ติดตามกว่าล้านคน ว่าด้วยเรื่องอาชีพสรรสร้างความบันเทิงรูปแบบใหม่ ที่ต้องกล้าลองเสี่ยงเพือให้ได้ผลลัพท์ที่ใหม่และดีขึ้น

เริ่มต้นจากความชอบที่เหมือนกัน

จุดเริ่มต้นของ จดอ มาจากที่ทั้งคู่เป็นคนชอบดูหนังเหมือนกัน หายใจเข้าก็เป็นหนัง หายใจออกก็เป็นหนัง และได้รู้จักผ่านทวิตเตอร์ จนได้เริ่มทำสิ่งที่อยากทำมานานคือ Podcast พอทำไปได้สักระยะ ก็เริ่มรู้สึกว่า การคุยเรื่องหนังโดยที่ไม่มีภาพประกอบมันยังไม่ใช่ ยังไม่สุด เลยตัดสินใจลองเปลี่ยนมาทำเป็นคลิปลง YouTube แทน

กล้าทำในสิ่งที่ต่างออกไป

พอทำไปเรื่อย ๆ ก็จะมีบางเรื่องที่ไม่เชี่ยวชาญ ก็อาศัย กลุ่มคน Community เพื่อนฝูง พี่น้อง ในการให้ข้อมูลเป็นเหมือนหัวใจหลัก ทำให้ช่องมีหลากหลายรสชาติ มีความน่าสนใจและถูกต้อง

กว่าจะเป็น Youtuber

ขั้นตอนแรกที่ Just ดู it ทำคือ “Research” หรือ ค้นข้อมูล ที่ไม่ใช่แค่การกลับไปดูหนังภาคเก่า ๆ แต่เป็นการค้นคว้าข้อมูลเชิงลึก ทั้งค้นคว้าจากทางอินเตอร์เน็ตหรือซื้อหนังสือ ส่วนใหญ่ข้อมูลว้าว ๆ ก็มาจากหนังสือต่างประเทศ ซึ่งก็คล้ายกับการทำวิจัยทางมหาวิทยาลัย มีการตั้งสมมติฐานว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง แล้วก็รวบรวมข้อมูลไว้ แล้วสังเคราะห์ว่าเอาแค่ไหนถึงจะพอดี

หัวใจหลักของการทำคลิปคือ ทำให้เหมือนทำหนัง ไม่สามารถพูดจากปากอย่างเดียวได้ ต้องให้เห็นภาพด้วย มันจะได้รู้สึกว่าทุกอย่างไปด้วยกัน และเราก็ต้องการภาพที่ถูกลิขสิทธิ์ด้วย ยิ่งทำเป็นอาชีพแล้ว จรรณยาบรรณสื่อยิ่งต้องมี

ขาดไม่ได้คือการเขียนบท หรือสคริปต์ ต้องเขียนไปด้วยอ่านไปด้วย ว่าฟังง่ายไหม ซับซ้อนไปไหม แม้จะทำคอนเทนต์เจาะลึก แต่ต้องให้คนที่ไม่ใช่แฟนคลับดูแล้วเข้าใจ เอนจอยไปกับมันด้วย พอได้สคริปต์ที่ไม่สั้นไม่ยาวไปแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการพากย์เสียง “Recording” เรียกได้ว่าวิธีการและโทนเสียงจากคลิปแรก ๆ กับตอนนี้ต่างกันมาก เพราะเมื่อก่อนจะติดตรงที่ขี้อาย อายที่จะใช้เสียง แต่พอกล้าขึ้น กล้าเล่นกับน้ำเสียงตัวเองมากขึ้น จนได้โทนเสียงที่พอดี เข้ากันกับสคริปต์

และมาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือ “Editing” หรือ การตัดต่อ ในขั้นตอนนี้เราจะต้องทำงานร่วมกับคนตัดต่อ ซึ่งเราก็ให้อิสระเขาในการออกแบบการเล่าเรื่อง ไม่ไปจำกัดไอเดียเขา อาจจะมีแค่ไกด์แนวที่อยากได้ไปนิดหน่อย แล้วก็ค่อยมาปรับกัน และที่สำคัญคือเราแจกจ่ายงานตามความชอบและความถนัดของแต่ละคน ทำให้เรารู้สึกว่าช่องเรามีการพัฒนาอยู่ตลอด

หาเงินยังไงในแพลต์ฟอร์มนี้

หลายคนจะเข้าใจว่ารายได้ส่วนใหญ่ที่ Youtuber จะได้จากยอดดู ยอดกดติดตาม เป็นเรื่องจริงในสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศไทยไม่ใช่

รายได้ที่ช่อง Just ดู It หลัก ๆ มี 2 ทาง 1. สปอนเซอร์ ให้เราขายสินค้าหรือโปรโมท 2. Google Adsense รายได้จากส่วนนี้ได้เพียง 1 ใน 3 หรือน้อยกว่า เนื่องด้วยอัลกอริทึม การวิเคราะห์ของ google และ youtube ละเอียดมาก จะแบ่งประเภทคนเข้าไปดู กดติดตาม กดไลค์ ดูโฆษณา แม้จะเป็นคอนเทนต์ที่ดูฟรี แต่คนทำไม่ได้ทำฟรี ใครชอบคอนเทนต์ช่องไหน ก็กดติดตาม กดไลค์ ดูโฆษณาให้เขาหน่อยก็ได้ และเป็นโชคดีที่ช่องจะมีลูกค้าเข้ามา สิ่งที่ช่องได้ทำคือการช่วยโปรโมทสินค้าเกี่ยวข้องกับความบันเทิง นับว่ารายได้จากส่วนนี้ได้มากถึง 80% ของรายได้ทั้งหมดเลย 

ซึ่งเคล็ดลับของเราก็คือ เวลาที่ได้คิดคอนเทนต์ให้ลูกค้า เรามักจะคิดถึงผลลัพธ์ที่ลูกค้าจะได้ด้วย ทำให้ในบางครั้งเวลาที่ลูกค้าติดต่อเข้ามา เราก็จะไม่เอาสินค้าของเขามาลงในคอนเทนต์ทันที แต่จะดูก่อนว่าสินค้านั้นเข้ากับคอนเทนต์นี้ไหม หรือเหมาะกับคอนเทนต์ตัวถัดไปมากกว่า เพื่อให้ทั้งเราและลูกค้า ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ข้อดี ข้อเสีย ของการเป็น Youtuber

ข้อดี คือ ได้อยู่กับสิ่งที่ชอบและได้เงินด้วย 

ข้อเสีย คือ แบ่งเวลายาก ไม่มีเวลาเข้า-ออกงานชัดเจน บางทีงานก็มาแบบตั้งตัวไม่ได้ ตารางชีวิตพัง 

สิ่งที่ต้องทำให้ได้คือต้องยืดหยุ่นตัวเอง ซึ่งก็อาจจะทำให้เวลาชีวิตไม่ตรงกับคนอื่น ทำให้หลายคนไม่เข้าใจ โดยเฉพาะคนรอบตัว ที่อายุเยอะ มักจะไม่เข้าใจอาชีพที่ใหม่นี้ และมีคำถามว่าจะเป็นอาชีพได้จริงหรอ และจะมั่นคงไหม ซึ่งแน่นอนว่า 

“ไม่ใช่อาชีพที่มั่นคง แต่เป็นอาชีพที่โตได้เร็วกว่า พาไปสู่เซอร์ไพร์สได้มากกว่า”

สำหรับคนที่พึ่งเริ่มทำ Youtube

อย่าพึ่งคิดว่างานแรกจะต้องดี งานแรกจะโคตรห่วย เมื่อมันห่วย มันจะดีขึ้นได้

เจอร์รี่ : ถ้าจะสำเร็จต้อง “คิดให้น้อย ทำให้เยอะ” ซึ่งคิดในที่นี้คือต้องคิดให้เป็นและลงมือทำให้เกิดผล 

แชมป์ : ไม่ต้องรอความพร้อม “อย่าไปอ้าง ทำแล้วจะได้รู้” หลายคนอาจจะอยากเป็นคนอื่นมากกว่าเป็นตัวเอง ลองทำดูก็ไม่ผิด จะได้รู้ว่าดีหรือไม่ดี แล้วค่อย ๆ จูนมาเป็นแบบเรา แค่อย่าไปทำแบบเขาเป๊ะ ๆ ทุกคนต้องหาแนวทางของตัวเอง และใจกล้าพอ เพราะถ้าโอกาสมาแล้วใจไม่กล้าก็อาจจะไปไม่ถึงก็ได้ 

“ต้องกล้าลองอะไรใหม่ ๆ กล้าออกจาก Safe zone เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ แล้วค่อยไปใหญ่ ๆ”