logoedukey

"ผู้กำกับ" ผู้เป็นหัวเรือของการ "ทำหนัง"

30 กันยายน 2565Edukey Thailandแนะแนวอาชีพ 57

แชร์บทความนี้

"ผู้กำกับ" ผู้เป็นหัวเรือของการ "ทำหนัง"

วันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับ กิตติชัย วรรณ์ประเสริฐ หรือ แชมป์ ผู้กำกับมากความสามารถที่เคยทำ รายการทีวี สารคดี รายการสภาวะสูญญากาศ ฉันจะเป็นครู ทาง Thai PBS ล่าสุดคือ Hurts like Hell ใน Netfilx มาเริ่มพูดคุยกันเลยดีกว่าว่าผู้กำกับหรืออาชีพคนสร้างเรื่อง สร้างเรื่องให้คนได้ชมเป็นอย่างไรบ้าง

“ผู้กำกับเหมือนหัวเรือ นำทีมไปสู่เป้าหมายให้ประสบความสำเร็จ”

ต้องมีความรับผิดชอบสูง ต้องรู้เรื่องกระบวนการถ่ายทำทุกแผนกการถ่ายทำ พร้อมที่จะรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิด

จุดเริ่มต้น ก่อนจะมาเป็นผู้กำกับที่มีชื่ออยู่ใน Netflix

รู้ว่าตัวเองชอบดูหนังตั้งแต่เด็ก ๆ และใฝ่ฝันที่จะทำงานด้านนี้มาโดยตลอด แต่ด้วยสถานการณ์ ณ ตอนนั้น ทำให้เราไม่สามารถเรียนเกี่ยวกับหนังโดยตรงได้ ทำให้ต้องใช้เวลานอกห้องเรียนในการศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของการทำภาพยนตร์ ดูว่าการทำหนัง 1 เรื่องต้องมีหน้าที่อะไรบ้าง แต่ละหน้าที่เขาทำงานกันยังไง และถ้ามีโอกาสก็จะหาอะไรลองทำอยู่ตลอด เริ่มต้นจากหนังสั้นที่ทำเล่น ๆ กับเพื่อน ไปจนถึงหนังสั้นส่งประกวด

ถึงตอนนั้นก็เลยคิดว่า "ถ้าตั้งใจจริง ทุกสิ่งเป็นไปได้" ทำให้เราลองชวน 'นิ้ง' มาเปิดวิดีโอโปรดักชั่นเล็ก ๆ ชื่อว่า "วันนี้วันดี" และสั่งสมประสบการณ์การทำงาน ทั้งรายการโทรทัศน์รวมถึงงานวิดีโออื่น ๆ มาเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งที่เราคิดว่า "พร้อมแล้ว อยากทำหนังแล้ว" ก็เลยลองทำโปรเจคลิมิเต็ดซีรีส์นี้ขึ้นมา


อาชีพผู้กำกับกับผลงานลิมิเต็ดซีรีส์ ลงเน็ตฟลิกซ์ชิ้นแรก

ซีรี่ส์เรื่อง Hurts Like Hell จะเล่าถึงอีกมุมของกีฬาประจำชาติ คือมวยไทย อยากชวนคนไทยมาดูแง่มุมอื่น ๆ ว่าทำไม กีฬาที่หลายคนคิดว่าเป็นอาชีพ มันกลายเป็นแบบปัจจุบันนี้ และซีรี่ส์เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องแรกของบริษัท เราจึงอยากให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานที่ดีที่สุด ทำให้นอกจากข้อมูลเชิงลึกและเนื้อเรื่องที่เข้มข้นแล้ว ระบบภาพเราก็เลือกที่จะทำเป็น Dolby Vision ระบบเสียงเป็น Dolby Atmos เพื่อสร้างอรรถรสที่ดีให้กับผู้ชมมากที่สุด

กระบวนการทำงานของผู้กำกับหนัง / ซีรีส์

จุดเริ่มต้นของการทำซีรีส์เรื่องนี้ คือเราได้รับโจทย์มาจาก Producer ว่าจะทำเกี่ยวกับอะไร อย่างแรกที่ต้องทำคือการทำการบ้าน ศึกษาค้นคว้า หาข้อมูล ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก ต้องให้ข้อมูลเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และเล่าในรูปแบบที่สร้างสรรค์ แตกต่าง

หลังจากนั้น ก็มานั่งคิดพล็อต โดยการระดมความคิดกันว่าจะเล่าเรื่องอะไร แง่มุมไหน ให้น่าสนใจ แตกต่างจากเรื่องอื่น ต่อจากการทำพล็อตคือการลงรายละเอียด เขียนออกมาเป็นบทภาพยนตร์ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็ต้องมีการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมอีกเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องตัวละคร จิตวิทยาว่าต้องรู้สึก คิดวิเคราะห์และแสดงอย่างไร เพื่อให้คนดูรู้และเข้าใจว่าเราจะเล่าเรื่องอะไร เมื่อบทเสร็จสมบูรณ์ก็จะมีการหาทีมงานมาร่วมทำโปรเจคนี้ พร้อม ๆ กับ Casting หานักแสดง ในส่วนนี้เรียกว่า Pre-Production ซึ่งส่วนนี้ต้องคิดถึงช่วง Production ด้วย ว่าต้องใช้มุมกล้องยังไง ดนตรี Art Direction อย่างไรบ้าง ต้องพูดคุยกันก่อนเพื่อให้ภาพในหัวตรงกัน เมื่อเข้าสู่กระบวนการถ่ายทำ Production ผู้กำกับจะสำคัญมาก เพราะต้องดูภาพรวมของงาน ดู Monitor เพื่อตรวจสอบภาพว่าเป็นไปตามที่จะสื่อสารหรือไม่ และต้องทราบงานของทุกแผนก เพื่อดูว่ามีจุดติดขัดตรงไหน จะได้แก้ไขได้ถูกต้อง

หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการ Post-Production ผู้กำกับก็ต้องตรวจสอบกระบวนการก่อนหน้าอีก เรื่อง ภาพ เสียง สี จะต้องมีอยู่แล้วในหัวแล้ว ก็นำไปคุยกับทีมเสียง Sound Effect, CG ว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร และพยายามควบคุม ตรวจสอบให้งานออกมาในแบบที่ต้องการจะสื่อสาร “ที่สำคัญต้องใส่ความเป็นตัวเองลงไป ให้งานมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมือนมีลายเซ็นของเรา”


ทักษะที่สำคัญของการเป็นผู้กำกับหนัง / ซีรีส์

ผู้กำกับควรมีความรู้เกี่ยวกับ ดนตรี ภาพ การแสดง CG และเรื่องการจัดการ เพราะผู้กำกับเหมือนหัวเรือที่ต้องคอยควบคุม ถ้าเวลาไปคุยงานแบบไม่รู้อะไรเลย จะทำให้การสื่อสาร ทำความเข้าใจเป็นไปได้ยาก อีกทักษะที่ต้องมีคือ ต้องคิดเร็ว ทำเร็ว ทักษะการบริหาร ให้พูดคุยกันบ่อย ๆ ระหว่างการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ภาพในหัวของแต่ละคนมีภาพในหัวตรงกัน และงานออกมาสมบูรณ์ อาชีพผู้กำกับเป็นอาชีพที่แบกความคาดหวังของทุกคน ถ้าจะมาทำอาชีพนี้ต้องค้นคว้าหาความรุ้เพิ่มเติมค่อนข้างเยอะ และพยายามเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ

“แม้เราจะไม่รู้ว่าคนดูจะคิดอย่างไร แต่สิ่งที่ทำได้ที่ดีที่สุด คือเราต้องรู้ตัวเราก่อนว่าจะเล่าอะไร ชัดเจนในสิ่งที่อยากจะสื่อสาร ควรทำงานของเราให้ดีที่สุด ข้อความที่เราต้องการส่งสารไปให้คนดูได้”